แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นข้าราชการครูได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งหรือสอบสัมภาษณ์ ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครูตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานในการสอบครั้งนี้ แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะเป็นเพียงกรรมการสอบสัมภาษณ์แต่การเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ในการสอบของจำเลยที่ 2 ที่ 3ย่อมนับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งจนถึงการสอบเสร็จสิ้นหาใช่เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เฉพาะในช่วงการสอบสัมภาษณ์เท่านั้นไม่ จำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นข้าราชการครูแต่มิได้เป็นกรรมการสอบด้วยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้ามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 86, 157, 164
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 164 แต่การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 157 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 9 ปีจำเลยที่ 4 ที่ 5 มีความผิดตามมาตรา 157 ประกอบดับมาตรา 86 และมีความผิดตามมาตรา 164 ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ที่แก้ไขใหม่ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุกคนละ 6 ปีส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 164 ให้ลงโทษตามมาตรา 157ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 4 ที่ 5มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 164 ประกอบด้วยมาตรา 86 ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90ประกอบมาตรา 86 จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นข้าราชการครูได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งหรือสอบสัมภาษณ์ในการสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครูครั้งที่ 1/2530 ตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานในการสอบครั้งนี้ แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะเป็นเพียงกรรมการสอบสัมภาษณ์ก็ตาม แต่การเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ในการสอบของจำเลยที่ 2 ที่ 3ย่อมคลุมถึงการสอบครั้งที่ 1/2530 ตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งจนถึงการสอบเสร็จสิ้น หาใช่เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เฉพาะในช่วงการสอบสัมภาษณ์เท่านั้นไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีเจตนาทุจริตร่วมกันนำข้อสอบวิชาความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งซึ่งเป็นความลับของทางราชการไปเปิดเผยให้นางบุญทิพา นุชพงษ์กับพวก รู้ก่อนเข้าสอบ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับในราชการตามฟ้องและจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการครูแต่มิได้เป็นกรรมการสอบมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน
พิพากษายืน