คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7745/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สภาพของที่ดินพิพาทมีไม้ยืนต้นปลูกอยู่เต็มพื้นที่ ลักษณะของการปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาทเป็นการปลูกไม้ยืนต้นเป็นหลักที่ว่างระหว่างไม้ยืนต้นซึ่งใช้ปลูกพืชสวนครัวเป็นส่วนประกอบไปด้วยตามสภาพของที่ว่าง เช่นนี้ย่อมมิใช่การมุ่งหมายใช้ที่ดินพิพาทปลูกพืชไร่เป็นพืชหลัก เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาท ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในการปลูกไม้ยืนต้น มิได้เช่าทำนาหรือปลูกพืชไร่การเช่าที่ดินพิพาทจึงไม่อยู่ในพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่สามารถอ้างการเช่าที่ดินพิพาทซึ่งไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อต่อสู้คดีว่าการเช่าที่ดินพิพาทมีกำหนดเวลา 6 ปีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 675,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ15,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ออกจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12324,14187 และ 14188 ตำบลคลองตัน อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาครและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 5,000 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน2533 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 4 ออกจากที่ดินดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12324, 14187, 14188 ตำบลคลองตันอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 ชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คนละ 5,000 บาท ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะออกจากที่ดินดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เช่าที่ดินพิพาทโดยอยู่ในความควบคุมตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ นายเอี่ยม วัฒนะเสรี และนายบุญมี นาเลิศ เป็นพยานเบิกความว่า ในตอนไปดูที่ดินพิพาทก่อนซื้อ ลักษณะที่ดินพิพาทเป็นสวนยกร่องปลูกต้นมะม่วง ชมพู่ และฝรั่ง สามารถเก็บผลผลิตได้แล้วส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 และนายสมจิตร รัศมีเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เช่าที่ดินพิพาทจากนางชื่นมารดาของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2523 เดิมเช่าทำนา แต่ทำได้ 3 ปี ไม่ได้ผลจึงเปลี่ยนเป็นปลูกพืชล้มลุก เช่น พริก มะเขือ แตง และถั่ว ต่อมาปี 2534จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตกลงกับโจทก์ขอเปลี่ยนจากปลูกพืชล้มลุกเป็นสวนผลไม้ โจทก์ยินยอม จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงปลูกมะม่วง ชมพู่ และฝรั่ง แต่เมื่อปี 2537 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เริ่มเก็บผลผลิตได้ โจทก์ขอแบ่งผลประโยชน์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 30,000 บาทต่อปี จำเลยที่ 2และที่ 3 ยืนยันชำระค่าเช่าปีละ 300 บาทต่อไร่ เห็นว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทในราคาไร่ละ 200,000 บาท โจทก์มีเหตุผลว่าซื้อในราคาดังกล่าวเพราะไม่ใช่ที่ดินเปล่าอันหมายถึงว่าเป็นที่ดินที่มีต้นไม้ที่อาจให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้นั่นเองประกอบกับจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นสวนผลไม้ มีมะม่วง ชมพู่ และฝรั่ง ก่อนจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เก็บผลประโยชน์จากผลไม้ดังกล่าวแล้วประมาณ 2 ปี จึงเจือสมกับข้อนำสืบของพยานหลักฐานโจทก์เมื่อคำนวณระยะเวลาตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ปลูกต้นไม้ยืนต้นเมื่อประมาณปี 2527 ถึง 2528 ซึ่งให้ผลผลิตภายในระยะเวลาประมาณ 3 ปี ต่อมาคือปี 2530 อันเป็นเวลา 2 ปีก่อนโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทนั่นเอง พยานจำเลยเบิกความแต่เพียงลอย ๆไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้น่ารับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่า จึงรับฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาท ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในการปลูกไม้ยืนต้น มิได้เช่าทำนาหรือปลูกพืชไร่การเช่าที่ดินพิพาทจึงไม่อยู่ในความควบคุมตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่สามารถอ้างการเช่าที่ดินพิพาทซึ่งไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อต่อสู้คดีว่าการเช่าที่ดินพิพาทมีกำหนดเวลา 6 ปี ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีสิทธิในฐานะผู้เช่าที่ดินพิพาท และโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องมีหน้าที่ออกไปจากที่ดินพิพาท ที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ฎีกาว่า นายเอี่ยม วัฒนะเสรี พยานโจทก์เบิกความว่า นายเอี่ยมกับนายไพฑูรย์เข้าไปดูที่ดินพิพาทมีการปลูกพืชล้มลุกอยู่เต็มพื้นที่เช่นถั่วฝักยาว รอบ ๆ ที่ดินมีการปลูกต้นมะพร้าวและมะม่วง นายเอี่ยมเป็นพยานของโจทก์ ย่อมไม่เบิกความเข้าข้างจำเลย จึงต้องฟังคำเบิกความของนายเอี่ยมเจือสมกับพยานหลักฐานของจำเลยว่าในตอนโจทก์ซื้อที่ดินพิพาท ยังมีพืชไร่ปลูกอยู่เต็มพื้นที่เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาท การเช่าที่ดินพิพาทจึงเป็นการเช่าที่ดินเพื่อปลูกพืชไร่ โจทก์ต้องรับโอนซึ่งหน้าที่ในการให้เช่าที่ดินเพื่อปลูกพืชไร่อันอยู่ในการควบคุมตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า ถึงแม้นายเอี่ยมเบิกความว่ามีการปลูกพืชล้มลุกเช่นถั่วฝักยาว แต่นายเอี่ยมก็เบิกความว่า ในที่ดินพิพาทมีไม้ยืนต้นซึ่งให้ผลผลิตแล้ว ประกอบกับตามภาพถ่ายจำนวน 5 ภาพก็แสดงให้เห็นสภาพของที่ดินพิพาทมีไม้ยืนต้นปลูกอยู่เต็มพื้นที่ ลักษณะของการปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาทเป็นการปลูกไม้ยืนต้นเป็นหลัก อาจมีที่ว่างระหว่างไม้ยืนต้นซึ่งใช้ปลูกพืชสวนครัวเป็นส่วนประกอบไปด้วยตามสภาพของที่ว่าง เช่นนี้ย่อมมิใช่การมุ่งหมายใช้ที่ดินพิพาทปลูกพืชไร่เป็นพืชหลักจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองให้อยู่ในความควบคุมตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share