คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิบเอกทหาร ซึ่งมีหน้าที่เป็นพนักงานกระสุนทำรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาถึงจำนวนกระสุนที่ทหารฝึกยิงไปแล้ว เป็นความผิดตาม มาตรา230
การรายงานเท็จถึงจำนวนกระสุนที่ยิงภายหลังที่ผู้รับมอบหมายกระสุนได้ยักยอกไปแล้ว ไม่เป็นความผิดฐานสมรู้ในการยักยอกแต่ผู้ที่ติดต่อจ่ายเงินให้ทหารงดยิง เพื่อจะได้มีโอกาสยักยอกกระสุน เป็นการสมรู้ให้ยักยอกได้

ย่อยาว

คดีเรื่องนี้โจทก์ฟ้องและร้องเพิ่มเติมฟ้องใจความว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 เป็นนายทหารชั้นประทวนประจำการ สังกัดกองพันทหารราบกรมการทหารราบโดยจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวดในกองร้อยที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาราชการผู้บังคับกองร้อยที่ 4 จำเลยที่ 3 เป็นนายสิบส่งกำลังบำรุงกองร้อยที่ 4 จำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าคลังสนามยิงปืน มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายทั้ง 4 คน และได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง ต่างกรรมต่างวาระกันกล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2495 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2495 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ผู้บังคับกองพันทหารราบ กรมทหารราบซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย ได้มีคำสั่งให้จำเลยนำทหารในกองพันทหารราบไปทำการยิงลูกระเบิดจรวดต่อสู้รถถัง 88 ที่เขาเอราวัณ โดยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมการยิง จำเลยที่ 2 เป็น ผู้อำนวยการยิงจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานกระสุน และจำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าคลังสนามยิงปืน มีหน้าที่ปกครองรักษาลูกระเบิดจรวดดังกล่าว จำนวน 138 นัดสำหรับให้ทหาร 69 คน ทำการยิงคนละ 2 นัดตามความประสงค์ของทางราชการ จำเลยทั้ง 4 สมคบกันให้ทหารทำการยิงลูกระเบิดจรวดไม่ครบจำนวนตามกำหนด โดยให้ยิงเพียง 60 นัดแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รายงานผลการยิงต่อผู้บังคับบัญชาว่าทหารได้ยิงลูกระเบิดจรวดไปจำนวน 119 นัด โดยจำเลยทั้ง 4 มีเจตนาทุจริตสมคบกันเบียดบังยักยอกเอาลูกระเบิดจรวดดังกล่าวของกองทัพบก จำนวน 59 นัดราคา 29,500 บาท ไปเป็นอาณาประโยชน์ส่วนตัว และระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2495 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม2495 เวลาใดไม่ปรากฏจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้บังอาจสมคบกันเอาเนื้อความ ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาจดลงเป็นความจริง และจงใจจดด้วยลักษณะอันเป็นเท็จในหนังสือราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของจำเลยทั้ง 3 โดยทำหนังสือราชการเสนอรายงานผลการยิงลูกระเบิดจรวดแจ้งต่อพันเอก พิสณท์ สุระฤกษ์ หัวหน้าแผนกที่ 1 กรมทหารราบ ผู้เป็นเจ้าพนักงานให้หลงเชื่อเป็นความจริงว่า ทหารกองร้อยที่ 1 ยิงคนละ 2 นัด 6 คน ทหารกองร้อยที่ 2 ยิงคนละ 2 นัด 15 คน กองร้อยที่ 4 ยิงคนละ 2 นัด 20 คน ซึ่งความจริงทหารกองร้อยที่ 1 ยิงคนละ 1 นัดทหารกองร้อยที่ 2 ยิงคนละ 2 นัด 6 คน ทหารกองร้อยที่ 4 ยิงคนละ 1 นัด 13 คน เป็นเหตุให้พันเอก พิสณท์ สุระฤกษ์ และกองทัพบกต้องเสียหาย เหตุทั้งนี้เกิดที่ ตำบลทะเลชุบศร และตำบลเขาสามยอดอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 131, 132, 118, 230, 63, 71 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตลอดข้อหา

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ

ศาลทหารกรุงเทพฯ ทำการพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวได้กระทำผิดดังฟ้องของโจทก์ จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 และกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 230 แต่เป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกันจึงให้ลงโทษตาม มาตรา 131 ซึ่งเป็นบทหนักโดยให้จำคุก 10 ปี ลดฐานปรานีตาม มาตรา 59 กึ่งหนึ่ง คงเหลือ 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 หลักฐานของโจทก์ยังไม่พอที่จะลงโทษ และจำเลยที่ 4 กรณีเป็นที่สงสัย ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 4 จึงให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ขอความกรุณาในเรื่องกำหนดโทษ

ศาลทหารกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นผลเสียหายร้ายแรงแก่ทางราชการทหาร ไม่มีเหตุอันสมควรจะเปลี่ยนแปลงกำหนดโทษลงอีกได้ ส่วนตัวจำเลยที่ 2 กรณีเป็นที่สงสัยไม่ตระหนักแน่ว่า ได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลย

สำหรับจำเลยที่ 3 มีหน้าที่เป็นพนักงานกระสุน ต้องรู้จำนวนลูกระเบิดจรวดที่นำมาให้ทหารทำการยิง จำนวนที่ใช้ยิงไปแล้วและจำนวนที่เหลือ จำเลยยังลงชื่อในเอกสารหมาย จ.6, จ.7, จ.8, จ.9 และ จ.10 อันเป็นรายงานที่รู้อยู่ว่า เป็นความเท็จ เป็นการอุปการให้จำเลยที่ 1 ยักยอกลูกระเบิดจรวดรายนี้ จึงเป็นผู้สมรู้ในการยักยอกร่วมกับจำเลยที่ 1 และเป็นผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานจดข้อความเท็จตามฟ้องด้วย

และสำหรับจำเลยที่ 4 ได้รับมอบเงินจากจำเลยที่ 1 ไปจ่ายให้แก่ทหารที่ไม่ทำการยิงลูกระเบิดจรวด โดยคิดให้ราคานัดละ 20 บาทและในชั้นสอบสวนก็ได้ให้การรับสารภาพว่า ได้สมคบกันยักยอกลูกระเบิดจรวดไป 32 นัดจริง การกระทำของจำเลยเป็นการอุปการในการยักยอกทรัพย์รายนี้

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลทหารกรุงเทพฯ ว่า จำเลยที่ 3 ผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 230 และ 131, 65 ให้ลงโทษตามมาตรา 131, 65 ซึ่งเป็นบทหนัก โดยให้จำคุกมีกำหนด 6 ปีจำเลยที่ 4 ผิดตามมาตรา 131, 65 ให้จำคุก 6 ปี ลดฐานปรานีตามมาตรา 59 กึ่งหนึ่งคงเหลือ3 ปี นอกจากนี้คงพิพากษายืน

จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว

ข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความว่า ในการฝึกยิงปืนด้วยกระสุนจริงของทหารใหม่สังกัดกองพันทหารราบ กรมการทหารราบ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2495 นั้นผู้บังคับกองพันได้มีคำสั่งที่ 37/1654 ในเรื่องฝึกยิงลูกระเบิดจรวดต่อสู้รถถัง 88 โดยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการยิง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมการยิง จำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานจดแต้มอีกตำแหน่งหนึ่งให้จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานกระสุน และจำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าคลังสนามยิงปืน กองร้อยต่าง ๆ ได้เบิกลูกระเบิดจรวดตามจำนวนทหารใหม่ของตนที่จะส่งมาฝึกเพื่อได้ใช้ยิงคนละ 2 นัด รวมทั้งสิ้น 138 นัด แต่กองร้อยที่ 3 ทหารขาด 1 คนจึงเอาลูกระเบิดจรวดเก็บเอง 2 นัดคงนำมามอบให้แก่จำเลยที่ 1 รวมทุกกองร้อยเพียง 136 นัด เอาเก็บไว้ที่คลังอาวุธของกองร้อยที่ 4 ซึ่งระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 เป็นคนถือกุญแจ โดยจำเลยที่ 2 มอบหมายให้มา

วันที่ 31 ตุลาคม 2495 เวลาประมาณ 5.00 นาฬิกา จำเลยที่ 1 เอาลูกระเบิดจรวดประมาณ 70 นัดเศษ มอบให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานกระสุนนำไปสนามยิงปืน จำเลยที่ 3 มีหน้าที่จ่ายลูกระเบิดจรวดให้ทหารใช้ยิงตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ก่อนลงมือฝึกยิง จำเลยที่ 1 ได้มอบเงินให้จำเลยที่ 4 ไปทำความตกลงกับทหารใหม่ที่จะมาฝึกยิงว่าถ้าใครต้องการยิงเพียงนัดเดียวจะจ่ายเงินให้ 20 บาท ทหารได้รับเงินจากจำเลยที่ 4 คนละ 20 บาท หลายคน ฉะนั้นในการฝึกยิงวันนั้นทหารส่วนมากจึงยิงลูกระเบิดจรวดคนละนัดเดียว และบางคนไม่ได้ยิงเลยเสร็จการฝึกในวันนั้นปรากฏว่า ลูกระเบิดจรวดที่นำไปสนามยิงปืนคงเหลือเพียง 17 นัด ในตอนเช้าจำเลยที่ 2 ติดราชการอื่นทางกองร้อยมอบให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติการควบคุมการฝึกยิงไปคนเดียวเสร็จงานแล้วตามไปตรวจดูในตอนหลัง จำเลยที่ 1 เลยถือโอกาสรายงานผลการฝึกและลูกระเบิดจรวดเหลือ 17 นัด ทำให้เข้าใจว่า ใช้ยิงไปหมดแล้ว 119 นัด ซึ่งความจริงใช้ยิงไปประมาณ 60 นัด เท่านั้นเองต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำรายงานผลการยิงแสดงว่า ทหารได้ฝึกยิงคนละ 2 นัดเป็นส่วนมาก ปรากฏข้อความตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.10 แล้วนำส่งลูกระเบิดจรวดคืน 19 นัด (คือที่เหลือจากสนามยิงปืน 17 นัดกับอีก 2 นัด ที่กองร้อยที่ 3 เก็บไว้เอง) กับสลักนิรภัย 119 อัน แสดงลูกระเบิดจรวดได้ใช้ยิงไปแล้ว 119 นัดซึ่งไม่ใช่ความจริง เพราะลูกระเบิดจรวดอีก 59 นัด ที่ไม่ได้เอาไปสนามยิงปืนนั้น จำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเอาไปฝังซ่อนไว้ และภายหลังเจ้าหน้าที่ติดตามจับได้คืนหมดเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.10 นั้น จำเลยที่ 3 ได้เซ็นชื่อไว้ด้วยในฐานะพนักงานกระสุน

ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ความวินิจฉัยของศาลฎีกา เฉพาะตัวจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ที่ฎีกาขึ้นมาเท่านั้น

สำหรับตัวจำเลยที่ 3 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานกระสุนมีหน้าที่รับลูกระเบิดจรวดจากคลังอาวุธของกองร้อยที่ 4 พาไปยังสนามยิงปืน และจ่ายให้ทหารฝึกยิงตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จะต้องรู้จำนวนลูกระเบิดจรวดอันแท้จริงที่ตนได้รับมอบหมาย ให้พาไปยังสนามยิงปืน จำนวนที่ทหารได้ใช้ยิงไปแล้ว ตลอดจนจำนวนที่ยังคงเหลืออยู่โดยครบถ้วน จำเลยจะปฏิเสธว่า ไม่รู้จำนวนอันแท้จริงที่ตนพาเอาไปรับรู้เพียงจำนวนที่เหลือว่า มีอยู่ 17 นัด ดังนี้เป็นข้อแก้ตัวที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรแก่การรับฟัง และจำนวนที่ใช้ยิงไปจริงประมาณ 60 นัดกับจำนวน 119 นัด ตามที่จำเลยเซ็นชื่อรับรองในเอกสารหมาย จ.6 ถึงจ.10 ผิดกันตั้งเท่าตัว เมื่อผู้บังคับบัญชาต้องการทราบผลอันแท้จริงจำเลยได้เซ็นชื่อลงในเอกสารแสดงผลการยิงทั้ง 5 ฉบับนี้ในฐานะพนักงานกระสุน ยืนยันว่า ลูกระเบิดจรวดได้ใช้ยิงไป 119 นัด โดยรู้อยู่ว่าเป็นรายงานผลที่เป็นความเท็จเช่นนั้นจึงเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 230 ดังที่ศาลทหารกลางวินิจฉัยมาชอบแล้ว

แต่ในข้อหาเรื่องยักยอกนั้น โจทก์นำสืบไม่ได้เลยว่า จำเลยที่ 3 ได้สมคบหรือร่วมรู้กับจำเลยที่ 1 ประการใดในการยักยอกลูกระเบิดจรวดรายนี้ จำเลยมิได้รับมอบหมายให้รักษาลูกระเบิดจรวดทั้ง 136 นัด เพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องเฉพาะจำนวนลูกระเบิดจรวดส่วนเดียวที่รับจากคลังอาวุธไปในวันฝึกยิงเท่านั้น ยิงแล้วคงเหลืออีก 17 นัดจำเลยก็นำมาส่งคืนคลังอาวุธครบถ้วน ไม่ได้มีการยักยอกลูกระเบิดจรวดรายที่จำเลยได้รับมอบหมายมานี้เลย จำเลยที่ 1 จะยักยอกลูกระเบิดจรวดในคลังอาวุธไปประการใด จึงมิได้เกี่ยวข้องกับตัวจำเลยคนนี้ อนึ่งขณะเมื่อจำเลยเซ็นชื่อในเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.10 นั้นปรากฏว่า จำเลยที่ 1ได้ยักยอกลูกระเบิดจรวดไปจากคลังอาวุธแล้วตั้งหลายวัน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า จำเลยนี้ได้สมคบหรือร่วมรู้ด้วยกับจำเลยที่ 1 ในการยักยอกนั้นแล้ว การรายงานเท็จของจำเลยดังกล่าวจึงไม่พลอยเป็นผิดในฐานยักยอกทรัพย์ และจะว่าเป็นอุปการแก่การยักยอกทรัพย์อันเป็นผิดในฐานผู้สมรู้ดังที่ศาลทหารกลางวินิจฉัยมาก็ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ได้ทำการยักยอกทรัพย์สำเร็จไปนานแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในเหตุประการนี้ฟังขึ้น

ส่วนตัวจำเลยที่ 4 ปรากฏว่า ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 มาหลายร้อยบาท แล้วได้ไปติดต่อกับทหารที่จะมาฝึกยิงลูกระเบิดจรวดในตอนเช้าวันนั้น ทหารคนใดงดไม่ยิงลูกระเบิดจรวด จำเลยก็จ่ายเงินให้นัดละ 20 บาท ทหารเหล่านี้จะต้องฝึกยิงลูกระเบิดจรวดคนละ 2 นัด แต่ได้รับเงินจากจำเลยไปคนละ 20 บาทแล้ว จึงคงยิงคนละนัดเดียวลูกระเบิดจรวดจึงเหลืออยู่มาก เป็นการช่วยเหลืออุปการแก่จำเลยที่ 1 ในการยักยอกลูกระเบิดจรวดรายนี้โดยตรง และชั้นสอบสวนจำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพผิดอยู่แล้ว ศาลทหารกลางวินิจฉัยว่าจำเลยผิดฐานเป็นผู้สมรู้ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ นับว่าดีอยู่แล้วฎีกาของจำเลยที่ 4 ไม่มีเหตุผลเพียงพอจะให้กลับหรือแก้คำพิพากษานั้นได้ ให้ยกเสีย

ด้วยเหตุผลทั้งหลายดังกล่าวมา ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลทหารกลาง เฉพาะตัวจำเลยที่ 3 ว่า เป็นผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 230 บทเดียว ให้จำคุก 5 ปี ความอื่นนอกจากที่แก้ไขนี้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทหารกลาง

Share