แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยรู้ว่ากำลังถูกผู้เสียหายที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุม การที่จำเลยกอดปล้ำต่อสู้และใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138, 140 และเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วย
การเป็นอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) นั้น ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน แต่ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลที่ต้นขาซ้ายด้านหลังต้องรักษาที่โรงพยาบาล 11 วัน หลังจากนั้นให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านและต้องไปทำแผลทุกวัน ในระหว่างรักษาบาดแผลผู้เสียหายที่ 2 ยังสามารถทำงานได้ตามปกติและต้องไปล้างแผลทุกวัน แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 มิได้ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจไม่ได้ จึงไม่เข้าลักษณะอันตรายสาหัสตาม ป.อ. 297 (8) เพียงแต่เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา295 เท่านั้น การที่จำเลยทำร้ายร่ายกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 296
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 218, 288, 289 (2), 80, 91, 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนของผู้อื่น ส่วนความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 (ที่ถูกมาตรา 138 วรรคสอง), 140 (ที่ถูกมาตรา 140 วรรคแรก), 218, 297 (8), 298 เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานวางเพลิงเผาโรงเรือน จำคุก 6 ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 298 และมาตรา 138, 140 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 298 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 9 ปีคำรับสารภาพของจำเลยในความผิดฐานวางเพลิง และคำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนซึ่งเป็นที่พักอาศัยของผู้อื่นให้จำคุก 5 ปี และจำเลยยังมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน อีกกระทงหนึ่ง จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาในความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนซึ่งเป็นที่พักอาศัยของผู้อื่นเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งในความผิดฐานนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามในความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายตามมาตรา 78 แล้ว คงจำคุกรวม 3 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบี้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา จำเลยได้เปิดวาล์วถังแก๊สแล้วจุดไฟวางเพลิงเผาบ้านของนายหัน ธัญญเจริญ ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้ไฟไหม้ฝาผนังบ้าน เตียงนอน เสื่อ ฟูก หมอน ผ้าปูที่นอน มุ้ง ผ้าห่ม เสื้อผ้าและกางเกงของผู้เสียหายที่ 1 เสียหาย ประมาณ 5,000 บาท แล้วจำเลยวิ่งหนีไปหลบซ่อนอยู่ในไร่อ้อยข้างบ้านของผู้เสียหายที่ 1 ต่อมาจำเลยใช้มีดปลายแหลมฟันแทงสิบตำรวจตรีสุทัศน์ ทองเหม ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บที่ต้นขาซ้ายด้านหลัง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้อาวุธและทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 เบิกความยืนยันว่า หลังจากรับแจ้งเหตุคดีนี้ ผู้เสียหายที่ 2 และเจ้าพนักงานตำรวจกับชาวบ้านรวมประมาณ 30 คน ติดตามจับกุมจำเลยเข้าไปในไร่อ้อย ผู้เสียหายที่ 2 พบจำเลยนั่งหลบอยู่โดยถือมีดปลายแหลมและมีดปอกผลไม้ เมื่อจำเลยเห็นผู้เสียหายที่ 2 ก็วิ่งเข้าหาผู้เสียหายที่ 2 ร้องว่า ตายเป็นตาย ผู้เสียหายที่ 2 จึงใช้ปืนยิงลงพื้นดินเพื่อขู่ แต่จำเลยยังคงวิ่งเข้ามาและใช้มีดปลายแหลมฟันผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ใช้มือปัดหลบเลี่ยง ระหว่างนั้นผู้เสียหายที่ 2 ล้มลงจึงถูกจำเลยเข้ากอดปล้ำแล้วต่างแย่งปืนกับมีดของกันและกัน ขณะกอดปล้ำกันนั้นมีเจ้าหนักงานตำรวจอื่นและชาวบ้านได้ยินเสียงจึงเข้าช่วยเหลือจับกุมจำเลย หลังจากนั้นจึงทราบว่าผู้เสียหายที่ 2 ถูกมีดของจำเลยที่บริเวณต้นขาซ้ายด้านหลัง สิบตำรวจโทเดชา คำหอม ผู้ร่วมจับกุมเบิกความว่า ระหว่างเกิดเหตุเมื่อพยานได้ยินเสียงปืนดัง 1 นัด จึงตามไป และพบว่าจำเลยกำลังกอดปล้ำต่อสู้อยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ในลักษณะแย่งปืน ขณะนั้นจำเลยยังคงถือมีดปลายแหลม พยานจึงเข้าช่วยเหลือและสามารถจับกุมจำเลยได้ และดาบตำรวจโสภณผู้ร่วมจับกุมเบิกความว่าหลังจากได้รับแจ้งเหตุว่าจำเลยขู่ว่าจะวางเพลิงเผาบ้านของผู้เสียหายที่ 1 พยานจึงติดตามไป เมื่อไปถึงบ้านที่เกิดเหตุจึงตะโกนเรียกเนื่องจากรู้จักกับจำเลยมาก่อน ต่อมาจำเลยเปิดวาล์วถังแก๊ส และจุดไฟแช็กทำให้ไฟลุกแล้วจำเลยถือมีดปลายแหลมวิ่งหนีออกไป พันตำรวจโทอรุณ เอกพงศ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองหญ้าไซเบิกความว่า ชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาว่าเผาโรงเรือนของผู้อื่น ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ พยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยให้การรับสารภาพ เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความสอดคล้องต้องกันและทุกคนไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะมากลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อว่าเบิกความตามความจริง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าชายคนที่กอดปล้ำต่อสู้แย่งปืนกับจำเลยและชายอีกหลายคนที่เข้ามาห้ามแยกจำเลยออกจากกันนั้นทุกคนแต่งกายธรรมดา ไม่ได้แต่งกายชุดเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ และตอนนั้นไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยจึงไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจนั้น เห็นว่า ปรากฏตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหา ว่าจำเลยให้การไว้ได้ความว่า …สักครู่หนึ่งมีเจ้าพนักงานตำรวจมาที่บ้านเกิดเหตุ จำเลยจึงได้เปิดวาล์วปิดเปิดถังแก๊สและจุดไฟขึ้น… ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อตอนท้ายรับรองว่าบันทึกคำให้การดังกล่าวอ่านให้จำเลยฟังแล้วรับว่าถูกต้องจึงขัดกับข้อต่อสู้ของจำเลย พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยรู้ว่ากำลังถูกผู้เสียหายที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นพนักงานตำรวจติดตามจับกุม การที่จำเลยกอดปล้ำต่อสู้และใช้มีดฟังแทงผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140 และเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยฟันแทงนั้นผู้เสียหายที่ 2 เป็นอันตรายสาหัสหรือไม่ เห็นว่า การเป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) นั้น ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน แต่ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผนที่ต้นขาซ้ายด้านหลังต้องรักษาที่โรงพยาบาล 11 วัน หลังจากนั้นให้กลับบ้านรักษาตัวที่บ้านและต้องไปทำแผลทุกวัน บาดแผลหายเป็นปกติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2544 โดยโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บถึงขนาดป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน แต่กลับได้ความจากผู้เสียหายที่ 2 ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ระหว่างรักษาบาดแผลผู้เสียหายที่ 2 ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้ การที่ผู้เสียหายหายได้ไปล้างแผลทุกวันนั้นก็แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 มิได้ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจไม่ได้อยู่แล้ว จึงไม่เข้าลักษณะอันตรายสาหัสตามมาตรา 297 (8) เพียงแต่เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 295 เท่านั้น การที่จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคแรก, 296 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7