แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามความในบทบัญญัติของมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 นั้น หาได้ลบล้างองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำ โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2482 นั้น ให้สิ้นไปไม่เพราะในมาตรา 16 หมายความถึงแต่เพียงมิให้คำนึงถึงเจตนาแห่งการกระทำหรือความประสงค์ต่อผลนั้น ยังคงต้องเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 27 นั้นอยู่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2503)
จำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้เสียภาษี แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล จำเลยยังไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำสิ่งของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยจำเลยเจตนาพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖, ๑๗ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓
จำเลยต่อสู้ว่า ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า จำเลยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะตาม พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า การกระทำที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ และมาตรา ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๗ นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่า ผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่ จึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่โจทก์อ้าง ปรับ ๔ เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน ๒๐๒,๘๓๓ บาท ๗๒ สตางค์ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา ๒๙, ๓๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขัง ๑ ปี ๖ เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ที่จำเลยนำทรัพย์สิ่งของตามฟ้องเข้ามา ได้เป็นไปในลักษณะซุกซ่อน ไม่เป็นเหตุที่จะถือเอาเป็นความผิดตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องได้ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่า การนำสิ่งของตามบัญชีท้ายฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น จำเลยได้มีกิริยาอาการอย่างใดที่จะถือได้ว่า จำเลยจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่โจทก์ฟ้อง
ปัญหาจึงมีต่อไปว่า แม้โจทก์จะฟ้องดังนั้น และข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ตามโจทก์ฟ้องก็ดี แต่มาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ จะห้ามไม่ให้จำเลยแก้ตัวดังนั้นหรือไม่ ซึ่งเมื่อประกอบกับ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๗ มาตรา ๒๗ เฉพาะที่เกี่ยวกับกรณีนี้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า คำว่า มีเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นจะยังคงเป็นองค์ประกอบความผิดเช่นกรณีนี้อยู่ในขณะนี้หรือไม่
ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า ตามในบทบัญญัติมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ นั้น หาได้ลบล้างองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำ โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. ๒๔๘๒ นั้น ให้สิ้นไปไม่เพราะในมาตรา ๑๖ หมายความถึงแต่เพียงมิให้คำนึงถึงเจตนาแห่งการกระทำหรือความประสงค์ต่อผลนั้น ยังคงต้องเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๒๗ นั้นอยู่ ความประสงค์ต่อผลนี้ในประมวลกฎหมายอาญา จึงได้ใช้คำว่าเพื่อ เช่นนี้ในมาตรา ๒๗๐ ที่ว่า ผู้ใดใช้ฯ เครื่องชั่งฯ ที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้ำหรือมีเครื่องเช่นว่านั้นไว้เพื่อขาย และ ในมาตรา ๕๙ วรรค ๓ ว่า ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
ศาลฎีกาจึงเห็นว่า คดีนี้จำเลยจะมีความผิดก็ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงที่จะฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ซึ่งตามพฤติการณ์ตามพยานหลักฐานโจทก์จะยังฟังเป็นเช่นนั้นไม่ได้ ศาลฎีกาพิพากษายืน