แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้ประสานงานด้านทรัพย์สิน ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ทำงานตำแหน่งช่างประจำอาคารและตำแหน่งช่างทั่วไป ต่อมาจำเลยผู้เป็นนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการมายังอาคารสมัยใหม่ซึ่งมีเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง โดยมีบริษัท อ. ผู้ให้จำเลยเช่าเป็นผู้รับผิดชอบในทรัพย์สินส่วนกลางที่เป็นโครงสร้างและส่วนสื่อบริการ จำเลยคงรับผิดชอบดูแลอาคารส่วนที่จำเลยเช่าอันไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนกลาง จำเลยได้ว่าจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านระบบรักษาความปลอดภัย ระบบโทรศัพท์ เข้ามาให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายในอาคารที่จำเลยเช่า ต่อมา บริษัท ช. ได้ขายอาคารสำนักงานเดิมของจำเลยให้แก่บุคคลภายนอก จำเลยจึงไม่มีแผนกงานของจำเลยในอาคารสำนักงานเดิม และไม่มีงานด้านช่างและการดูแลอาคารสถานที่ให้โจทก์ทั้งสามทำอีกต่อไป อีกทั้งโจทก์ทั้งสามก็ไม่มีคุณสมบัติและความสามารถที่จะทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีระดับสูงในอาคารที่ทำการใหม่ของจำเลย และไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามมีคุณสมบัติที่ดีกว่าพนักงานซึ่งทำงานประจำในแผนกอื่นของจำเลยที่จะย้ายโจทก์ทั้งสามไปทำงานแทนพนักงานเหล่านั้นได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเนื่องจากไม่มีงานที่เหมาะสมให้โจทก์ทั้งสามทำดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสาม
ย่อยาว
โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 441,720 บาท และเงินเพิ่มพิเศษจำนวน 156,077.40 บาท ให้โจทก์ที่ 1 ค่าเสียหายเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำนวน 538,560 บาท เงินเพิ่มพิเศษจำนวน 161,568 บาท เงินตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นเงิน 26,928 บาท และคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้ในอัตราร้อยละ 4 ในส่วนของเงินกู้ที่เหลืออยู่ ให้แก่โจทก์ที่ 2 ค่าเสียหายเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 1,802,308.20 บาท และค่าเสียหายจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำนวน 245,526 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 3
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 147,240 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงินจำนวน 538,560 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และให้จำเลยคิดดอกเบี้ยของเงินกู้ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ที่โจทก์ที่ 2 กู้จากจำเลยในระหว่างเป็นลูกจ้างกับนายจ้างในส่วนของเงินกู้ที่เหลือ และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 334,380 บาท แก่โจทก์ที่ 3 คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทเอช เอส บี ซี โฮลดิ้ง พี แอล ซี จำกัด โดยโจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่เลขานุการ โจทก์ที่ 2 ทำหน้าที่ช่างประจำอาคาร โจทก์ที่ 3 ทำหน้าที่พนักงานระดับบริการ ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 บริษัทเอช เอส บี ซี โฮลดิ้ง พี แอล ซี จำกัด โอนโจทก์ทั้งสามเข้าทำงานกับจำเลยซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โจทก์ที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้ประสานงานด้านทรัพย์สิน ได้รับเงินเดือนอัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 29,448 บาท โจทก์ที่ 2 ทำงานในตำแหน่งช่างประจำอาคารได้รับเงินเดือนอัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 26,928 บาท และโจทก์ที่ 3 ทำงานในตำแหน่งช่างทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,292 บาท ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2546 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 64 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยเช่าจากบริษัทเอช เอส บี ซี โฮลดิ้ง พี แอล ซี จำกัด (มหาชน) ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2544 จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการมาอยู่ที่อาคารเลขที่ 968 ถนนพระราม 4 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นอาคารสมัยใหม่มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง โดยบริษัทเอื้อวัฒนสกุล จำกัด ผู้ให้จำเลยเช่าเป็นผู้รับผิดชอบในทรัพย์สินส่วนกลางที่เป็นโครงสร้างและส่วนสื่อบริการ จำเลยคงรับผิดชอบดูแลอาคารส่วนที่จำเลยเช่าอันไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนกลาง จำเลยได้ว่าจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านระบบรักษาความปลอดภัย ระบบโทรศัพท์ คือบริษัทโจนส์ แลงลาซเล แมนเนจเม้นท์ จำกัด เข้ามาให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายในอาคารที่จำเลยเช่า อีกทั้งเมื่อเดือนกันยายน 2545 บริษัทเอช เอส บี ซี โฮลดิ้ง พี แอล ซี จำกัด (มหาชน) ได้ขายอาคารสำนักงานเดิมของจำเลยให้แก่บุคคลภายนอก จำเลยจึงไม่มีแผนกงานของจำเลยในอาคารสำนักงานเดิม เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้ประสานงานด้านทรัพย์สิน ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ทำงานตำแหน่งช่างประจำอาคารและตำแหน่งช่างทั่วไป เมื่อจำเลยย้ายที่ทำการจากอาคารเดิมมายังอาคารใหม่ซึ่งเป็นอาคารสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยซึ่งเจ้าของอาคารผู้ให้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบในอาคารที่เป็นทรัพย์สินส่วนกลาง สำหรับอาคารส่วนที่จำเลยเช่านั้น จำเลยได้ว่าจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาให้บริการแล้ว จำเลยจึงไม่มีงานด้านช่างและการดูแลอาคารสถานที่ให้โจทก์ทั้งสามทำอีกต่อไป อีกทั้งโจทก์ทั้งสามก็ไม่มีคุณสมบัติและความสามารถที่จะทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีระดับสูงในอาคารที่ทำการใหม่ของจำเลย และไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามมีคุณสมบัติที่ดีกว่าพนักงานซึ่งทำงานประจำในแผนกอื่นของจำเลยที่จะย้ายโจทก์ทั้งสามไปทำงานแทนพนักงานเหล่านั้นได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเนื่องจากไม่มีงานที่เหมาะสมให้โจทก์ทั้งสามทำดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสาม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและให้จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยจะคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ที่ 2 ตามสัญญากู้ที่โจทก์ที่ 2 กู้เงินจากจำเลยไปซื้อรถยนต์ในอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่ พิเคราะห์สำเนาสัญญากู้พร้อมคำแปล ข้อ 2 ซี และบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญากู้แล้ว เห็นว่า สัญญากู้ข้อ 2 ระบุว่า “ผู้กู้ตกลงด้วยว่าหากผู้กู้ต้องออกจากการเป็นพนักงานของธนาคารไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตามในระหว่างระยะเวลาการกู้เงิน ธนาคารมีสิทธิกระทำการทั้งปวงหรือกระทำการใด ๆ ดังต่อไปนี้แล้วแต่จะเลือก … (ซี) เพิ่มอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ดังกล่าวและดอกเบี้ยภายใต้สัญญานี้ พึงต้องชำระตามอัตราที่ธนาคารอาจกำหนดขึ้นแทนอัตราก่อนที่กำหนดไว้” นั้น หมายความว่า หากโจทก์ที่ 2 ผู้กู้ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จำเลยมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยเพิ่มได้ตามอัตราท้องตลาด (อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยคิดจากลูกค้าทั่วไป) ดังนี้ เมื่อโจทก์ที่ 2 ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ที่ 2 กู้จากจำเลยในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับลูกค้าทั่วไปนับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 2 ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ที่โจทก์ที่ 2 กู้จากจำเลยไม่ได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม