แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ข้อที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้อง เนื่องจากจำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินเพียง 100,000 บาท แต่โจทก์กรอกจำนวนเงินในสัญญากู้เงินเป็นจำนวน 275,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองไม่ยินยอมสัญญากู้เงินจึงเป็นเอกสารปลอมนั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองอ้างก็ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับการบังคับให้ตามกฎหมาย และศาลย่อมนำมาเป็นเหตุยกฟ้องได้อยู่แล้ว จำเลยทั้งสองหาจำต้องฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์รับชำระหนี้ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้โจทก์ส่งมอบสัญญากู้เงินปลอมแก่จำเลยทั้งสองเพื่อนำไปทำลายประการใดไม่ ทั้งคำขอตามฟ้องแย้งดังกล่าว ศาลก็ไม่อาจบังคับให้ได้ เพราะหากสัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ก็เท่ากับการกู้ยืมเงินรายนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่อาจนำมาฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายปรด ชิณวงศ์พรหม เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2537 จำเลยทั้งสองร่วมกันกู้เงินนายปรด 275,000 บาท กำหนดชำระคืนในวันที่ 15 เมษายน 2538 แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 378,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 275,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองกู้เงินนายปรดเพียง 100,000 บาท แต่โจทก์กรอกจำนวนเงินในสัญญากู้เงินเป็นจำนวน 275,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองไม่ยินยอม สัญญากู้เงินจึงเป็นเอกสารปลอม และโจทก์คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยโดยไม่ชอบ ขอให้บังคับโจทก์รับชำระหนี้ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกู้จนถึงวันฟ้อง 37,500 บาท จากจำเลยทั้งสองและให้โจทก์ส่งมอบสัญญากู้เงินปลอมแก่จำเลยทั้งสองเพื่อนำไปทำลายต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การ แต่ไม่รับฟ้องแย้งเนื่องจากไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะต้องฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องแย้งไว้พิจารณานั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ข้อที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเนื่องจากจำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินเพียง 100,000 บาท แต่โจทก์กรอกจำนวนเงินในสัญญากู้เงินเป็นจำนวน 275,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองไม่ยินยอม สัญญากู้เงินจึงเป็นเอกสารปลอมนั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองอ้างก็ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับการบังคับให้ตามกฎหมาย และศาลย่อมนำมาเป็นเหตุยกฟ้องได้อยู่แล้ว จำเลยทั้งสองหาจำต้องฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์รับชำระหนี้ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้โจทก์ส่งมอบสัญญากู้เงินปลอมแก่จำเลยทั้งสองเพื่อนำไปทำลายแต่ประการใดไม่ ทั้งคำขอตามฟ้องแย้งดังกล่าวศาลก็ไม่อาจบังคับให้ได้ เพราะหากสัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ก็เท่ากับการกู้ยืมเงินรายนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่อาจนำมาฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์รับชำระหนี้ตามจำนวนที่กู้ยืมกันตามที่จำเลยกล่าวอ้าง และไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบสัญญากู้เงินปลอมแก่จำเลยทั้งสองเพื่อนำไปทำลายได้เช่นกันเพราะสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นเอกสารของโจทก์และโจทก์ก็ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งสองเพื่อนำไปทำลาย ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า สัญญากู้เงินปลอมแม้จะไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ แต่โจทก์อาจนำสัญญากู้เงินดังกล่าวไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกโดยที่บุคคลภายนอกไม่ทราบข้อเท็จจริงตามที่จำเลยทั้งสองให้การ ซึ่งทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายได้รับการดูถูกว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่ยอมชำระหนี้ จำเลยทั้งสองจึงต้องเรียกสัญญากู้เงินดังกล่าวมาทำลายเพื่อปกป้องสิทธิของจำเลยทั้งสองนั้น ก็มิใช่เหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อฟ้องแย้งโจทก์ได้ หากจำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์อย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน