แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จะเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกในแต่ละคราวนั้นเป็นดุลพินิจของกรรมการที่จะเรียกจากผู้ถือหุ้นเมื่อใด เป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ตราบเท่าที่บริษัทยังคงดำรงอยู่ หาใช่ว่าจะต้องเรียกภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนตั้งกรรมการบริษัทไม่ แม้เมื่อเลิกบริษัท ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินลงหุ้นอันเป็นส่วนที่ยังค้างชำระอยู่นั้นก็ได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1265ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของบริษัทจำเลยในการเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกจึงเกิดขึ้นในแต่ละคราวที่กรรมการส่งคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นนั้น และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทจำเลยเด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจตาม พระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 119 เรียกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชำระเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกทั้งหมดได้.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าหุ้น จำนวน 112,500 บาท ที่ค้างชำระอยู่กับบริษัทจำเลย และได้ดำเนินการสอบสวนจนในที่สุดได้มีหนังสือยืนยันหนี้ให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าหุ้นจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม2527 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้ชำระหนี้ค่าหุ้นให้แก่บริษัทจำเลยจนครบถ้วนเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว และนับตั้งแต่นั้นผู้ร้องก็มิได้เข้าเกี่ยวข้องกับบริษัทจำเลยอีกแม้ผู้ร้องจะเป็นหนี้บริษัทจำเลย คดีก็ขาดอายุความแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิมาเรียกร้องได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า จากการตรวจสอบหลักฐานการจดทะเบียนซึ่งบริษัทจำเลยส่งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าผู้ร้องถือหุ้น 1,500 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 100 บาท ชำระค่าหุ้นแล้ว 25 เปอร์เซ็นต์ คงค้างชำระค่าหุ้นอยู่ 112,500 บาท ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมจัดตั้งบริษัทจำเลย เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2507 ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ชำระค่าหุ้นแล้วนั้น พยานของผู้ร้องในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีพิรุธขัดกันจนไม่น่าเชื่อใบเสร็จรับเงินที่ผู้ร้องอ้างก็ไม่ใช่ใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องของบริษัทจำเลย อายุความในการทวงหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2523 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการยืนยันหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่มีไปถึงผู้ร้องให้ชำระค่าหุ้นจำนวน 112,500 บาท ให้จำหน่ายชื่อจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องได้ชำระเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีก 112,500 บาท ให้แก่บริษัทจำเลยแล้ว
ปัญหาสุดท้ายมีว่า สิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งให้แก่บริษัทจำเลยอีกนั้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1120 บัญญัติว่า’บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้…’ และมาตรา 1121บัญญัติว่า ‘การเรียกเงินค่าหุ้นแต่ละคราวนั้น ท่านบังคับว่าให้ส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่ายี่สิบเอ็ดวันด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ และผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องใช้เงินตามจำนวนที่เรียกนั้น สุดแต่กรรมการจะได้กำหนดไปว่าให้ส่งไปยังผู้ใด ณ ที่ใดและเวลาใด’ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้เข้าด้วยกันแล้ว จะเห็นได้ว่าการที่จะเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกในแต่ละคราวนั้น เป็นดุลพินิจของกรรมการที่จะเรียกจากผู้ถือหุ้นเมื่อใดเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ตราบเท่าที่บริษัทยังคงดำรงอยู่ หาใช่ว่าจะต้องเรียกภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนตั้งกรรมการบริษัทดังที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกาไม่ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเลิกบริษัทผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินลงหุ้นอันเป็นส่วนที่ยังค้างชำระอยู่นั้นก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1265 ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของบริษัทจำเลยในการเรียกเงินค่าหุ้น ซึ่งยังจะต้องส่งอีกจึงเกิดขึ้นในแต่ละคราวที่กรรมการส่งคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นนั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กรรมการบริษัทจำเลยไม่เคยส่งคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกไปยังผู้ถือหุ้น ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทจำเลยเด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 119 เรียกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชำระเงินค่าหุ้น ซึ่งยังจะต้องส่งอีกทั้งหมดได้…’
พิพากษายืน.