คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์จะปรับปรุงโบนัสและสวัสดิการ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แยกจากจำเลยที่ 2มาตั้งเป็นบริษัทใหม่ รับโอนกิจการและพนักงานบางส่วนมาจากจำเลยที่ 2 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีเฉพาะจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญากับโจทก์เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1จะรับโอนกิจการบางแผนกพร้อมลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาแต่จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องผูกพันตามบันทึกข้อตกลงนั้นกับโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างของจำเลยทั้งหมด แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าลูกจ้างจำนวนมากมิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงจะจ่ายเงินโบนัสเท่ากับลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับได้ ส่วนลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกของโจทก์ที่จำเลยที่ 1ได้รับโอนมาและทำสัญญารับโอนพนักงานกับลูกจ้างนั้น โจทก์มิได้ตั้งรูปฟ้องโดยอาศัยสัญญานั้นเป็นหลักแห่งข้อหา จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98(2) หรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์จะปรับปรุงโบนัสและสวัสดิการแก่ลูกจ้างทุก ๆ ระยะ 6 เดือน โดยจำเลยที่ 2 จะแบ่งกำไรสุทธิให้ร้อยละยี่สิบ จำเลยที่ 1 ได้แยกจากจำเลยที่ 2 มาตั้งเป็นบริษัทใหม่รับโอนกิจการและพนักงานบางส่วนมาจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1ตกลงจะให้ลูกจ้างที่โอนมาได้รับสิทธิและประโยชน์อันพึงได้ไม่น้อยกว่าที่จะได้รับจากจำเลยที่ 2 ตามสัญญาโอนพนักงาน แต่สมาชิกสหภาพแรงงานโจทก์ที่ได้โอนไปไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงนั้น ขอให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ได้ทำกับโจทก์โดยให้จำเลยจ่ายโบนัสประจำปีแก่พนักงานของจำเลยที่ 1 เท่ากับพนักงานของจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 ให้การว่า หากจำเลยที่ 2 จะเคยทำข้อตกลงไว้ ก็ย่อมผูกพันแต่เฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 2 หรือบุคคลที่จำเลยที่ 1 รับโอนมาเท่านั้นไม่มีผลผูกพันถึงลูกจ้างอื่น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์แต่บันทึกข้อตกลงนั้นมีผลเฉพาะลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เท่านั้น เมื่อมีการโอนพนักงานไปทำงานกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับรองให้ไว้กับพนักงานผู้โอนเป็นรายบุคคลเพียงที่เกี่ยวกับเงินชดเชยและเงินบำเหน็จบำนาญเท่านั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินโบนัสแทนจำเลยที่ 1 ได้

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่คู่สัญญาโอนพนักงาน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับลูกจ้างที่โอนมาจากจำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันให้สิทธิและประโยชน์แก่ลูกจ้างเหล่านั้นในการจ่ายเงินโบนัสไม่น้อยกว่าที่ลูกจ้างจะได้รับจากบริษัทจำเลยที่ 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินโบนัสเพิ่มให้แก่พนักงานที่โอนมาให้เท่ากับที่จะพึงได้รับจากจำเลยที่ 2 หากมิได้โอนมานอกจากนี้ให้ยกฟ้องและคำขออื่นของโจทก์

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงตามฟ้องมีเฉพาะจำเลยที่ 2 เท่านั้นเป็นคู่สัญญากับโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1ถึงจะรับโอนกิจการบางแผนกพร้อมลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างหากจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องผูกพันตามบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โดยฐานเป็นคู่สัญญา

แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทั้งหมด แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าลูกจ้างจำนวนมากมิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 1 ไว้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงจะจ่ายเงินโบนัสเท่ากับลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับได้ ส่วนลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกของโจทก์ที่จำเลยที่ 1ได้รับโอนมาและทำสัญญารับโอนพนักงาน โจทก์มิได้ตั้งรูปฟ้องโดยอาศัยสัญญารับโอนพนักงานเป็นหลักแห่งข้อหา ฉะนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 98(2) หรือไม่

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share