คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8203/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่2นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปร่วมกิจการเกินรถกับจำเลยที่3ในเส้นทางที่ได้รับสัมปทานจากทางราชการโดยจำเลยที่3ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่2ร้อยละ13ของยอดรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายและยอมให้จำเลยที่3นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยที่4กับยอมให้จำเลยที่3พ่นชื่อบริษัทจำเลยที่3ไว้ที่ข้างรถจึงถือว่าจำเลยที่2และที่3เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการรับขนคนโดยสารด้วยกันในลักษณะหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเมื่อจำเลยที1ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่2ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวจำเลยที่3จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่2ในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่1ด้วย ที่จำเลยที่3ฎีกาว่าจำเลยที่4ต้องรับผิดไม่เกิน250,000บาทในนามของจำเลยที่3นั้นไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ความรับผิดในจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่3ต้องใช้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลดลงเนื่องจากโจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่3ได้เต็มจำนวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3ทำหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ซึ่งนำเข้าร่วมกับจำเลยที่ 3รับขนคนโดยสารในเส้นทางที่จำเลยที่ 3 ได้รับสัมปทาน โดยประกอบกิจการค้าร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วน จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 และ ที่ 3 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารรับส่งผู้โดยสารด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์กระบะที่โจทก์ขับ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและได้รับความเสียหายต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ต้องขาดรายได้ในการทำงานและสูญเสียอวัยวะสำคัญของร่างกายไป ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายรวม 526,122 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นหุ้นส่วนกัน จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3แต่เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จนเป็นที่พอใจของโจทก์แล้ว ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาไม่เป็นความจริง รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปประกันอุบัติเหตุไว้กับจำเลยที่ 4 ระบุชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้เอาประกัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสียเบี้ยประกัน ขณะเกิดเหตุกรมธรรม์ยังมีผลบังคับ จำเลยที่ 4 จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดแก่โจทก์
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2และที่ 3 และไม่ใช่ผู้ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุและมิได้มีประโยชน์เกี่ยวข้องในการรับขนคนโดยสาร จำเลยที่ 4 รับประกันภัยรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย เหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์จำเลยทั้งหมดจึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามฟ้อง ตามกรมธรรม์ประกันภัยหากจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ไม่เกินวงเงิน 50,000 บาทและจำเลยที่ 4 ได้ชดใช้แก่บุคคลภายนอกอื่น ๆ ไปแล้ว 30,000 บาทต้องนำมาหักออกด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน226,122 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางที่ได้รับสัมปทานจากทางราชการ โดยจำเลยที่ 3 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่ 2ร้อยละ 13 ของยอดรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย และยอมให้จำเลยที่ 3นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4กับยอมให้ จำเลยที่ 3 พ่นชื่อบริษัทจำเลยที่ 3 ไว้ที่ข้างรถปรากฎตามภาพถ่ายหมาย จ.1 และ จ.15 จึงถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการรับขนคนโดยสารด้วยกันในลักษณะหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดไม่เกิน 250,000บาท ในนามของจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่าไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ความรับผิดในจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 3 ต้องใช้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลดลงเนื่องจากโจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 3 ได้เต็มจำนวน
พิพากษายืน

Share