แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991(3) ซึ่งบัญญัติว่าธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตนเว้นแต่ในกรณีที่ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คหายนั้น เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจธนาคารไม่จำต้องจ่ายเงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้าสั่งจ่ายมาเบิกเงินแก่ตน จึงเป็นคนละกรณีกับการที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงเช็คผู้ที่นำเช็คมาเรียกเก็บเงินจากธนาคารเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เช็คพิพาทเป็นแคชเชียร์เช็คซึ่งธนาคารจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย และโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบธนาคารจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจึงต้องผูกพันตนเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะต้องจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวให้แก่ผู้ทรงธนาคารจำเลยที่ 1 จะอ้างมาตรา 991(3) มายกเว้นความรับผิดต่อผู้ทรงหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ซื้อแคชเชียร์เช็คพิพาทสองฉบับจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่า “ผู้ซื้อมีใบแจ้งความมาขออายัด” โจทก์ชี้แจงให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและโจทก์ขออายัดมิให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินจำนวน 35,000 บาท หรือออกแคชเชียร์เช็คฉบับใหม่ให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 กลับคืนเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ไป 35,000 บาทโดยมิชอบ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มีคำบอกกล่าวว่าเช็คพิพาทหาย จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องใช้เงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 35,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2522 จำเลยที่ 2 นำเงินสด 35,000 บาท มาขอเปลี่ยนเป็นแคชเชียร์เช็คสองฉบับตามฟ้องจากจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2522 จำเลยที่ 2 บอกกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ว่าเช็คทั้งสองฉบับตกหาย ได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อและขอรับเงินคืน ในตอนเย็นวันเดียวกันนั้นธนาคารเมอแคนไทล์ จำกัด ได้ขอเรียกเก็บเงินตามเช็คทั้งสองฉบับจากจำเลยที่ 1 ตามที่ขอให้เรียกเก็บ จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับโอนให้โจทก์เป็นการชำระหนี้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2522เช็คมิได้ตกหายแต่อย่างใด ขอให้จำเลยที่ 1 ระงับการคืนเงินหรือออกเช็คฉบับใหม่ให้จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครใต้ระหว่างดำเนินคดีจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงิน 35,000 บาทให้จำเลยที่ 2 ไป และข้อเท็จจริงฟังได้ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์และโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อกฎหมายเมื่อมีคำบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ว่าเช็คหายหรือถูกลักไป จึงเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991(3) จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชอบใช้เงินตามเช็คพิพาทสองฉบับดังกล่าว โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาความแก่จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้สลักหลังโอนเช็คให้แก่ตนนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 991 บัญญัติว่า “ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีดังกล่าวต่อไปนี้คือ (1) ฯลฯ (3) ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป” เห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นข้อยกเว้นที่ให้อำนาจธนาคารไม่จำต้องจ่ายเงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้าสั่งจ่ายมาเบิกเงินแก่ตน จึงเป็นคนละกรณีกับการที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงเช็คดังที่พิพาทกันในคดีนี้เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย หาใช่ผู้เคยค้าสั่งจ่ายเช็คพิพาทมาเบิกเงินจากธนาคารจำเลยที่ 1 ไม่ จำเลยที่ 1 จึงอ้างมาตรา 991(3) มายกเว้นความรับผิดของตนต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คหาได้ไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น” ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงต้องผูกพันตนเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะต้องจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวให้แก่ผู้ทรงเช็ค เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบจึงฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามเช็คพิพาทได้โดยตรงจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้คืนเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ขอออกเช็คไปแล้วเพื่อปัดความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คไม่ได้
พิพากษายืน