คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทซึ่งติดจำนองให้แก่ผู้รอง สิทธิจำนองย่อมติดไปกับที่พิพาทด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 จึงเป็นสิทธิของผู้ร้องจะไถ่จำนองในฐานะผู้รับโอนที่พิพาทมาก็ได้ ถ้าหากผู้ร้องประสงค์จะไถ่ถอนแล้ว ก็จำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนเอง จะถือเอาการที่ต้องไถ่จำนองเองเป็นค่าตอบแทนการโอนหาได้ไม่
ข้อที่ว่าโจทก์ชอบทีจะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้เสียก่อนนั้น เมื่อมิได้ยกขึ้นว่ากันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลสูงก็ย่อมไม่หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเลยไปว่า แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนเสียก่อน ศาลก็มีอำนาจชึ้ขาดได้นั้น ไม่ทำให้เป็นประเด็นในปัญหาข้อกฎหมายชั้นอุทธรณ์ที่ผู้ร้องจะฎีกาต่อมาได้

ย่อยาว

คดีนี้ จำเลยแพ้คดีโจทก์ โจทก์นำยึดทรัพย์ที่ดินของผู้ร้องซึ่งรับโอนมาจากจำเลย โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของำเลยเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของผู้ร้องรับโอนจากจำเลย โดยผู้ร้องตกลงชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่จำเลยนองสหกรณ์ไว้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การโอนที่พิพาทเป็นการยกให้โดยเสน่หา ข้อที่ผู้ร้องว่าช่วยชำระหนี้จำนองแทนจำเลยนั้น หาใช่ค่าตอบแทนไม่ จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่นาพิพาทแสดงว่าจำเลยโอนโดยไม่สุจริต ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การโอนรายนี้มิได้มีค่าตอบแทน การที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทซึ่งติดจำนองสหกรณ์ให้แก่ผู้ร้อง สิทธิจำนองย่อมติดไปกับที่พิพาทด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๒ จึงเป็นสิทธิของผู้ร้องจะไถ่จำนองในฐานะเป็นเจ้าของผู้รับโอนที่พิพาทมาก็ได้ ถ้าหากผู้ร้องประสงค์จะไถ่ถอนแล้ว ก็จำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนเอง ผู้ร้องจะถือการที่ต้องไถ่จำนองเองเป็นค่าตอบแทนการโอนหาได้ไม่ กรณีเป็นเรื่องการยกให้โดยเสน่หาอยู่นั่นเอง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ ถ้าหากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องรู้หรือไม่ว่าการโอนจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้เสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไปว่า แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมเสียก่อน ศาลก็มีอำนาจชี้ขาดในชั้นนี้ได้นั้น ไม่ทำให้เป็นประเด็นในปัญาหข้อกฎหมายชั้นอุทธรณ์ที่ผู้ร้องจะฎีกาต่อมาได้
พิพากษายืน

Share