คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7718/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ พ.ศ. 2522ข้อ 4 วรรค 2 ระบุว่า “ในการประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ให้นักศึกษามาชี้แจงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ต่อคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ ด้วย” นั้น มีความหมายว่า ในวันที่คณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาผู้ใด นักศึกษาผู้นั้นจะต้องมาเพื่อชี้แจงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของตนต่อคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ ในกรณีที่คณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ มีข้อที่จะสอบถามเท่านั้น แต่หากไม่มีข้อจะสอบถาม นักศึกษาผู้นั้นไม่จำเป็นต้องชี้แจง กรณีตามระเบียบดังกล่าวจึงมิใช่ข้อบังคับว่า คณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ จะต้องให้นักศึกษาชี้แจงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของตนต่อคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ เสมอไป
การจะนัดคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์จะต้องพิจารณาวันและเวลาที่คณะกรรมการดังกล่าวแต่ละคนจะมีวันว่างพอที่จะมาร่วมประชุมด้วย และการไม่มาประชุมของจำเลยที่ 5 เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นที่จำเลยที่ 1มิได้แต่งตั้งให้บุคคลอื่นเป็นประธานกรรมการกลั่นกรอง ฯ แทนจำเลยที่ 5 กรณีอาจเป็นเรื่องกะทันหันไม่ทราบว่าจำเลยที่ 5 จะมีเหตุขัดข้องไม่สามารถมาได้ และตามคำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะส่อแสดงได้ว่าจำเลยทั้งเก้ามีเจตนาจะกลั่นแกล้งโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นการใช้สิทธิซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์นอกจากจะเป็นคำขอที่ให้โจทก์ได้รับสิทธิพิเศษผิดไปจากนักศึกษาระดับชั้นปริญญาโททั่วไปแล้ว ยังเป็นคำขอที่อยู่นอกเหนือข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาโท พ.ศ. 2520 ข้อ 6และนอกเหนือระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ พ.ศ. 2522ข้อ 4 อีกด้วย จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับให้โจทก์ได้

Share