คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7717/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำบันทึกรับรอง ฉ. คนต่างด้าว ภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานครโจทก์ แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่จัดการส่ง ฉ. เดินทางออกไปจากราชอาณาจักรไทยอ้างว่าจำวันนัดผิด โจทก์สอบสวนแล้วเห็นว่าจำเลยขาดเจตนาที่จะผิดเงื่อนไขการรับรอง จำเลยทำคำร้องขอผ่อนผันการปรับตามบันทึกรับรองต่อโจทก์ ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโจทก์ ได้มีคำสั่งเห็นชอบผ่อนผันระงับการปรับจำเลยแล้ว อันเป็น คำสั่งที่เป็นอำนาจหน้าที่ของโจทก์โดยตรงและชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์กระทำไปตามอำนาจในฐานะเป็นคู่สัญญากับจำเลยส่วนอธิบดีกรมตำรวจมิใช่คู่สัญญากับจำเลยจึงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมตำรวจ ถือว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาปลดหนี้ให้จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 แล้วหนี้ค่าปรับตามสัญญาดังกล่าวจึงระงับสิ้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2522ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แต่งตั้งข้าราชการสังกัดกองตรวจคนเข้าเมืองได้แก่ผู้บังคับการ รองผู้บังคับการ ฯลฯเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามที่พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 กำหนดไว้ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2526 จำเลยทำบันทึกรับรองนายเฉิง อี้ หยัน คนต่างด้าวเชื้อชาติจีนมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเดินทางเข้ามาเพื่อเยี่ยมญาติ โดยจำเลยทำบันทึกรับรองประกันไว้กับโจทก์ว่าเมื่อคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้วจำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาจะเป็นผู้ดูแลคนต่างด้าวและเมื่อการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงจำเลยจะจัดการให้คนต่างด้าวเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรไทยภายในกำหนดทันที โดยจำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่และกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองทุกประการ หากปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมให้ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ เมื่อจำเลยทำบันทึกรับรองดังกล่าวแล้วโจทก์ได้อนุญาตให้นายเฉิง อี้ หยัน เข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้โดยเข้ามาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2526 ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 แต่เมื่อครบกำหนดที่คนต่างด้าวจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรไทยตามที่จำเลยได้ทำบันทึกรับรองไว้ แต่คนต่างด้าวกลับอยู่เกินกำหนดเป็นเวลา 30 วัน จึงถือว่าจำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขบันทึกรับรองที่ให้ไว้ต่อโจทก์และพนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองโดยไม่จัดการให้คนต่างด้าวปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งให้คนต่างด้าวดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่นายเฉิง อี้ หยัน อยู่เกินกำหนด30 วัน นั้น เพราะจำเลยจำวันนัดผิด มิได้จงใจหรือมีเจตนาจะให้นายเฉิง อี้ หยัน อยู่เกินกำหนดและจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตผ่อนผันการอยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่โจทก์ไม่อนุญาตจำเลยพานายเฉิง อี้ หยันไปเสียค่าปรับให้แก่โจทก์ 3,000 บาท และส่งตัวนายเฉิง อี้ หยันออกไปจากราชอาณาจักรไทย โจทก์สอบถามแล้วมีความเห็นว่า เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ติดใจเอาผิดกับจำเลย ถือว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าปรับ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และนายเฉิง อี้ หยัน ชำระค่าปรับแก่โจทก์แล้ว หนี้ของลูกหนี้ระงับ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 และ 248 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบมาตรา 247
โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า การที่โจทก์มีบันทึกผ่อนผันการปรับจำเลยผู้รับรองตามเอกสารหมาย ล.2 เป็นการปลดหนี้แก่จำเลยตามกฎหมายหรือไม่ ประเด็นข้อนี้โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ซึ่งเป็นการไม่ชอบแต่เมื่อโจทก์ได้ยกประเด็นดังกล่าวเป็นข้อฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นข้อนี้เสียเองโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ทำบันทึกรับรองนายเฉิง อี้ หยันหรือเทีย อิก เอี๊ยง หรือเฉิง อี้ รัน คนต่างด้าว เชื้อชาติจีน ภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนไว้ต่อโจทก์ปรากฏตามสำเนาเอกสารหมาย จ.6 แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่จัดการส่งนายเฉิง อี้ หยัน เดินทางออกไปจากราชอาณาจักรไทยอ้างว่าจำวันนัดผิด โจทก์สอบสวนแล้วลงความเห็นว่าจำเลยขาดเจตนาที่จะผิดเงื่อนไขการรับรองจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตผ่อนผันการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของคนต่างด้าวไปอีกระยะหนึ่ง โจทก์ไม่อนุญาตและเปรียบเทียบปรับคนต่างด้าวเป็นเงิน 3,000 บาท จำเลยทำคำร้องขอผ่อนผันการปรับตามบันทึกรับรองต่อโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 ต่อมาผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองมีคำสั่งผ่อนผันการปรับจำเลยเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 บัญญัติว่า”ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป
ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย ฯลฯ” เมื่อโจทก์มีบันทึกข้อความตามเอกสารหมาย ล.2ซึ่งผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองมีคำสั่งให้ผ่อนผันการปรับจำเลยกรณีผิดเงื่อนไขตามบันทึกการรับรองเอกสารหมาย จ.6 ตามที่จำเลยร้องขอ ถือได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 340 วรรคสอง
โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า การที่ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองมีความเห็นผ่อนผันไม่ปรับจำเลยตามข้อความในเอกสารหมาย ล.2 หนี้ยังไม่ระงับเนื่องจากยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดคืออธิบดีกรมตำรวจ เห็นว่า ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ตามเอกสารหมาย จ.1 มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองที่จะอนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ในฐานะคู่สัญญากับจำเลยตามกฎหมาย ซึ่งโจทก์มีพลตำรวจตรีณัฐ มีนะกนิษฐ ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองขณะนั้นเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโจทก์ เมื่อพลตำรวจตรีณัฐได้มีคำสั่งเห็นชอบผ่อนผันระงับการปรับจำเลยแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่เป็นอำนาจหน้าที่ของโจทก์โดยตรงและชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์กระทำไปตามอำนาจในฐานะเป็นคู่สัญญากับจำเลยโดยตรงส่วนอธิบดีกรมตำรวจมิใช่คู่สัญญากับจำเลย ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาแสดงเจตนาปลดหนี้ให้จำเลยแล้ว หนี้ค่าปรับจำเลย 20,000 บาท จึงระงับสิ้นไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share