แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177แม้จะไม่ได้บัญญัติว่า ผู้เบิกความจะต้องรู้ถึงความจริงเท็จแห่งข้อความที่ตนเบิกนั้นไว้ด้วยก็ตาม แต่การที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ผู้กระทำผิดก็จะต้องกระทำโดยเจตนาคือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ตนนำมาเบิกความนั้นเป็นเท็จ
ย่อยาว
คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ โจทก์และจำเลยเป็นคนคนเดียวกัน ศาลรวมพิจารณาพิพากษามาด้วยกัน โดยฟ้องทั้งเจ็ดสำนวนใจความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือร่วมกับผู้อื่นทำปลอมใบส่งสินค้าอันเป็นหลักฐานแสดงการซื้อและรับผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับ แล้วนำไปกล่าวอ้างนำสืบแสดงเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ในการพิจารณาคดีของศาลแพ่ง และจำเลยทั้งสองเข้าเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาด้วยข้อความอันเป็นข้อสำคัญในคดีแพ่ง ทำให้โจทก์และผู้อื่นเสียหายการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารปลอม เบิกความเท็จ และสืบแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 177, 180, 264,265 และ 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดียังไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง จึงไม่มีมูลทั้งเจ็ดสำนวน พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สำหรับจำเลยที่ 1 คดีมีมูลในข้อหาฐานปลอมเอกสาร ใช้หรืออ้างเอกสารปลอม ส่วนในข้อหาอื่น และคดีสำหรับตัวจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล พิพากษาแก้ ว่าคดีของโจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ในข้อหาฐานปลอมเอกสาร และใช้หรืออ้างเอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265 และ 268และฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้รับประทับฟ้องจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาพิพากษาตามฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งมีว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 มิได้บัญญัติไว้ว่าจะต้องรู้ถึงความจริงเท็จแห่งข้อความที่เบิกนั้นด้วย ถ้าข้อความที่จำเลยที่ 2 เบิกนั้นเป็นความเท็จ เป็นข้อสำคัญในคดี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว จำเลยที่ 2 จะรู้หรือไม่รู้ว่าเอกสารหลักฐานที่ให้การถึงเป็นเอกสารปลอม และโจทก์มิได้เป็นลูกหนี้ซื้อเชื่อน้ำมัน จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ต้องมีความผิดตามบทมาตราที่กล่าวนี้
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 จะบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษ โดยมิได้บัญญัติว่าผู้เบิกความจะต้องรู้ว่าข้อความที่ตนเบิกความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ ไว้ด้วยก็ตาม แต่การที่จะเป็นความผิดตามบทมาตรานี้ผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำด้วยเจตนาคือ รู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ตนนำมาเบิกความนั้นเป็นเท็จแล้วยังนำมาเบิกความ การที่จะตีความตามทำนองที่โจทก์ฎีกาว่า ถ้าข้อความที่จำเลยที่ 2 เบิกความนั้นเป็นเท็จ และเป็นข้อสำคัญในคดีแล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะไม่รู้ว่าความนั้นเป็นเท็จจำเลยที่ 2 ก็ต้องมีความผิดตามบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวนั้น หาถูกต้องไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์