แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันมีใจความว่าจำเลยยอมใช้เงิน 70,000 บาท แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระเงิน จำเลยยอมให้โจทก์เข้าสวมสิทธิไถ่การขายฝากที่ดิน เมื่อจำเลยไม่ใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนดนั้น มิได้มีความหมายว่าเป็นการโอนสิทธิการไถ่การขายฝากให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497(2) ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่มีความหมายแต่เพียงว่าโจทก์มีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากคืนมาในนามของจำเลย จำเลยคงมีสิทธิอยู่ตามเดิม ส่วนโจทก์มีเพียงสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน 70,000 บาทตามสัญญาเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลมีข้อความว่า
๑. จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้รับมรดกยอมชดใช้เงินให้โจทก์รวม ๗๐,๐๐๐ บาท โจทก์พอใจในจำนวนเงินนี้แล้ว ไม่ติดใจเรียกร้องเอาเกินไปกว่านี้อีก
๒. เพื่อเป็นประกันการชำระเงินตามข้อ (๑) จำเลยที่ ๑ ยอมให้โจทก์เข้าสวมสิทธิการไถ่การขายฝากที่ดิน ฯลฯ ทั้งนี้ จะเข้าสวมสิทธิไถ่การขายฝากได้ต่อเมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนดการขายฝากตามสัญญา
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อโจทก์เข้าสวมสิทธิไถ่การขายฝากแล้วทรัพย์ที่ไถ่จากการขายฝากนั้นย่อมเป็นของโจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การสวมสิทธิการไถ่ของโจทก์ตามสัญญายอมความข้อ ๒ ไม่ทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ไถ่มา คงมีสิทธิจะบังคับคดีในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นการตกลงกันว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างเอาชำระและรับชำระหนี้สินตามที่ฟ้องเพียง ๗๐,๐๐๐ บาทตามสัญญาข้อ ๑ เท่านั้น ส่วนสัญญาข้อ ๒ เป็นการกำหนดหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญาข้อ ๑ เพื่อให้โจทก์ได้รับชำระหนี้โดยครบถ้วนและแน่นอน จึงกำหนดไว้ว่า จำเลยที่ ๑ ต้องยอมให้โจทก์เข้าสวมสิทธิการไถ่การขายฝากที่ดินในเมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ใช้สิทธิไถ่การขายฝากภายในกำหนดอายุสัญญาขายฝาก ทั้งนี้ เพราะนอกจากทรัพย์ที่ขายฝากแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ มีทรัพย์สินอื่นอีกเลยฉะนั้น ถ้ามิได้กำหนดไว้ดังกล่าวในสัญญาข้อ ๒ และเมื่อทรัพย์ที่ขายฝากตกเป็นของผู้รับซื้อฝากโดยเด็ดขาดแล้ว โจทก์ก็ย่อมจะไม่ได้รับชำระหนี้ ๗๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาข้อ ๑ ดังนี้ ความหมายของข้อความที่ว่า ให้โจทก์เข้าสวมสิทธิการไถ่การขายฝากที่ดิน ฯลฯ ตามข้อ ๒นั้น จึงมิได้หมายความว่า เป็นการโอนสิทธิการไถ่การขายฝากให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๙๗(๒) ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่โจทก์ใช้สิทธิไถ่มาดังโจทก์ฎีกาโต้เถียงไม่ คำว่า “สวมสิทธิการไถ่การขายฝากที่ดิน” มีความหมายเพียงให้โจทก์มีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากได้คืนมาในนามของจำเลยหรือแทนจำเลยซึ่งเป็นผลให้ถือไม่ได้ว่าที่ดินที่ได้จากการขายฝากมานั้นเป็นของโจทก์ หากแต่ยังคงเป็นของที่จำเลยมีสิทธิอยู่ตามเดิม ส่วนโจทก์ก็คงมีเพียงสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาข้อ (๑)
ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน.