คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 771/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในตอนแรกชายจะฉุดคร่าหญิงไปก็ตาม ภายหลังชายหญิงนั้นก็ตกลงจะทำการสมรสกันได้
การที่ชายได้พาหญิงไปในทางชู้สาวยังไม่เป็นการสมรสตามกฎหมายชายหญิงนั้นย้อนกลับมาทำการสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ และชายยอมให้สินสอดแก่บิดาหญิงได้
เงินสินสอดที่บิดาโจทก์มอบให้แก่จำเลยที่ 1 บิดาของหญิงนั้นเมื่อไม่มีการสมรส โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกคืนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบิดาผู้ปกครองจำเลยที่ 2 โจทก์กับจำเลยที่ 2 ลักพากันไปในทางชู้สาว ต่อมาโจทก์ได้จัดเฒ่าแก่ไปพูดกับจำเลยที่ 1 เพื่อสู่ขอจำเลยที่ 2 ทำการสมรสกับโจทก์จำเลยที่ 1 เรียกค่าสินสอด 4,040 บาท โจทก์ได้มอบเงิน 4,040 บาทให้จำเลยที่ 1 โดยหวังว่าจะได้ทำการสมรสกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้เพทุบายให้จำเลยที่ 2 หลบหนีไป ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ตามสัญญาโจทก์ขอสินสอดคืนจำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้ จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า ความจริงโจทก์กับพวกได้ใช้อาวุธปืนจี้ฉุดจำเลยที่ 2 ไป ต่อมาโจทก์ยอมให้ค่าล้างอายจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 4,040 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำการสมรสกับโจทก์ไม่ได้รับเงินและเรียกสินสอด มิได้ให้จำเลยที่ 2 หลบหนีขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวคืนเงิน 4,040 บาท ให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 คงให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยที่ 1 รับเงิน 4,040 บาทของโจทก์ไว้เป็นค่าสินสอดประเด็นที่ว่าโจทก์ได้ฉุดคร่าจำเลยที่ 2 ไปจริงหรือไม่และโจทก์ได้พาจำเลยที่ 2 ไปจริงหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเพราะแม้คดีจะฟังได้ว่าโจทก์ฉุดคร่าไปจริง ภายหลังการฉุดคร่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 ก็ตกลงจะทำการสมรสกันได้ การฉุดคร่ากับการตกลงจะทำการสมรสเป็นเรื่องที่แยกกันได้ ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ได้พาจำเลยที่ 2 ไปในทางชู้สาวจริงหรือไม่ หากคดีจะฟังได้ว่าโจทก์ได้พาไปทางชู้สาวจริงโจทก์กับจำเลยก็ยังไม่ได้ทำการสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์กับจำเลยที่ 2 ก็ย้อนกลับมาทำการสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ และยอมให้สินสอดแก่จำเลยที่ 1 ได้

ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า เงินนี้ไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าเงินนี้เป็นเงินของฝ่ายโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้

พิพากษายืน

Share