คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้คดีก่อนมีประเด็นในเรื่องโจทก์ขอแสดงกรรมสิทธิ์พิพาท โดยขอให้ถอนชื่อจำเลยทั้งสองออกจากโฉนดที่พิพาทและให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน และคดีนี้มีประเด็นเฉพาะเงินค่าเช่าห้องแถวซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทที่จำเลยทั้งสี่ได้เรียกเก็บจากผู้เช่าระหว่างที่จำเลยที่ 4 ครอบครองที่พิพาทก็ตาม แต่ค่าเช่าดังกล่าวเป็นดอกผลของที่พิพาทซึ่งมีมาตั้งแต่เมื่อโจทก์ฟ้องในคดีก่อนประเด็นในเรื่องกรรมสิทธิ์กับประเด็นในเรื่องค่าเช่าจึงเกี่ยวเนื่องจากมูลกรณีเดียวกัน โจทก์อาจฟ้องในเรื่องค่าเช่าพร้อมกับฟ้องในเรื่องกรรมสิทธิ์ได้ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคแรก โจทก์จะรื้อร้องฟ้องในเรื่องค่าเช่าซึ่งอยู่ในประเด็นกรรมสิทธิ์ที่พิพาทซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่ได้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีเรื่องก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 รับโอนที่ดินซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่โจทก์ตั้งแต่เมื่อครั้งโจทก์ยังไม่เป็นนิติบุคคล แล้วไม่ยอมโอนให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสอง ต่อมาจำเลยทั้งสองร่วมกับจำเลยที่ 3 กลับโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับค่าเช่าห้องแถวซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินตามฟ้อง ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ให้ชำระเงินค่าเช่าห้องแถวเหล่านั้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฏีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในเบื้องต้นว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 608/2522 หรือไม่พิเคราะห์แล้วคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทว่า นายลาเต๊ะพงษ์ยี่ล้า ที่ 1 นายหะยี มูชา อุกฤษ ที่ 2 จำเลยกับนายสุรินทร์ ศาสนภาพ ลงชื่อในโฉนดพิพาทแทนมัสยิดดุสลามโจทก์หรือไม่จำเลยทั้งสองกับนายสุรินทร์มีอำนาจที่จะโอนที่พิพาทให้แก่มุสลิมนครศรีธรรมราชวัดคิดมูลนิธิจำเลยร่วมหรือไม่ และสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทั้งสองกับนายสุรินทร์ตกลงกันแบ่งบางส่วนของที่พิพาทนั้นผูกพันโจทก์หรือไม่ คดีถึงที่สุดโดยศาลฏีกาฟังว่า จำเลยทั้งสองกับนายสุรินทร์ลงชื่อในโฉนดที่พิพาทเพื่อจะได้โอนที่พิพาทให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลแล้ว จำเลยทั้งสองจึงโอนที่พิพาทให้แก่มุสลิมนครศรีธรรมราชวัดคิดมูลนิธิจำเลยร่วมไม่ได้ สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยทั้งสองกับนายสุรินทร์ในเรื่องที่พิพาทไม่ผูกพันโจทก์ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจัดการโอนที่พิพาทให้แก่มัสยิดดุสลามโจทก์เมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ได้มาซึ่งที่ดินแล้วข้อพิพาทดังกล่าวจึงเป็นการพิพาทกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อมาเมื่อมัสยิดดุสลามโจทก์ ได้รับโอนที่พิพาทจากจำเลยทั้งสองแล้ว ได้ฟ้องเป็นคดีนี้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คดีนี้ซึ่งเป็นคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในคดีก่อน นายธานินทร์ กิติมธานินทร์จำเลยที่ 1 และมุสลิมนครศรีธรรมราชวัดคิดมูลนิธิ จำเลยที่ 4ซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีก่อนส่งมอบเงินค่าเช่าห้องแถว ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทที่จำเลยทั้งสี่ได้เรียกเก็บจากผู้เช่า ระหว่างที่มุสลิมนครศรีธรรมราชวัดคิดมูลนิธิ จำเลยที่ 4 ครอบครองที่พิพาทแก่โจทก์ จึงเป็นการพิพาทกันในเรื่องเงินค่าเช่า ถึงแม้คดีนี้คู่ความจะพิพาทกันในเรื่องเงินค่าเช่าก็ตาม แต่เงินค่าเช่าดังกล่าวเป็นดอกผลของที่พิพาทซึ่งมีมาตั้งแต่เมื่อโจทก์ฟ้องในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินในคดีก่อน ประเด็นในเรื่องกรรมสิทธิ์กับประเด็นในเรื่องค่าเช่า จึงเกี่ยวเนื่องจากมูลกรณีเดียวกัน โจทก์อาจที่จะฟ้องในเรื่องค่าเช่าพร้อมกับฟ้องในเรื่องกรรมสิทธิ์ได้เมื่อเป็นเช่นนี้ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 วรรคแรก กล่าวคือ เมื่อคดีในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่พิพาทถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงรื้อร้องฟ้องในเรื่องค่าเช่าซึ่งอยู่ในประเด็นกรรมสิทธิ์ที่พิพาทซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฏีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share