แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้เสียหายตกลงจะซื้อธนบัตรปลอมจากจำเลยแม้จะเป็นโดยจำเลยใช้อุบายหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงก็ดี ก็เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์จะกระทำผิดกฎหมาย มิได้เป็นไปด้วยความสุจริต จะถือว่าตนเป็นผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้ ฉะนั้นพนักงานอัยการจึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีอันเนื่องจากคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายเช่นนี้ มาว่ากล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกันใช้อุบายหลอกลวงประกอบด้วยความเท็จมากล่าวแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยกับพวกมีธนบัตรปลอม ซึ่งได้สะดวกเช่นเดียวกันธนบัตรดีจำหน่ายผุ้เสียหายหลงเชื่อ และตกลงซื้อในราคาธนบัตรปลอม ๑๐๐ บาทแต่ธนบัตรดี ๕๐ บาท ครั้นผู้เสียหายมอบเงิน ๑๐๕๐ บาทให้แก่จำเลยกับพวก เพื่อซื้อธนบัตรปลอมดังกล่าว พวกของจำเลยได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานจะจับกุม จำเลยกับพวกจึงได้เอาเงินของผู้เสียหายไป โดยมีเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๐๔ ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์มอบคดีให้เจ้าพนักงานฟ้องร้องแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
นายสุพรรณจำเลยผู้เดียวฎีกา
ศาลฎีกาประชุมใหญ่มีมติว่า การที่ผู้เสียหายตกลงจะซื้อธนบัตรปลอมจากจำเลยแม้จะเป็นโดยจำเลยใช้อุบายหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงก็ดี ก็เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์จะกระทำผิดกฎหมาย มิได้เป็นไปด้วยความสุจริต จะถือว่าตนเป็นผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้ เพราะฉะนั้นพนักงานอัยการจึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีอันเนื่องจากคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายเช่นนี้ มาว่ากล่าวได้
จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง