แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่าเฉพาะแต่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความเท่านั้นที่จะเข้ามาในคดีด้วยการร้องสอด แต่จำเลยที่ 3 เป็นคู่ความในคดีอยู่แล้ว แม้จำเลยที่ 3 อ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ละเลยไม่ต่อสู้คดีกับโจทก์ จำเลยที่ 3ต้องการเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ตาม จำเลยที่ 3 ก็ไม่ใช่บุคคลภายนอก ไม่อาจร้องสอดเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง(1) ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าให้ร่วมรับผิดชำระหนี้ 41,046,316.04 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4จำนองที่ดินเป็นประกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 มีมากพอชำระหนี้โจทก์โจทก์ไม่จำเป็นต้องฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกัน และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) อ้างว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ละเลย ไม่ต่อสู้คดีกับโจทก์ แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นคู่ความในคดี แต่จำเลยที่ 3 ต้องการเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในบริษัทจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) จะต้องร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อพิพาทกับโจทก์หรือจำเลยเดิม กรณีตามคำร้องไม่เข้าเหตุที่จะร้องสอดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)และผู้ร้องสอดไม่เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่พิพาท เสียค่าคำร้องสอดเพียง 20 บาท จึงไม่รับคำร้องสอด
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องสอดข้อแรกว่า มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่าเฉพาะแต่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความเท่านั้นที่จะเข้ามาในคดีด้วยการร้องสอดแต่ผู้ร้องสอดเป็นคู่ความในคดีอยู่แล้วคือเป็นจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกไม่อาจร้องสอดเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 วรรคหนึ่ง(1) ได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องสอดจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องสอดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องค่าขึ้นศาลเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน