แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ แต่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135 ได้
เหตุต่าง ๆ ที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ล้วนแต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งเป็นข้อที่ศาลชั้นต้นจะพึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 คือถ้ามีเหตุดังกล่าวที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายศาลก็จะพิพากษายกฟ้องแต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกเอาเหตุดังกล่าวมาขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(2) ได้อีก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และวันที่ 15 ตุลาคม 2540 ได้พิพากษาให้จำเลย (ลูกหนี้) เป็นบุคคลล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 61
เจ้าหนี้รายที่ 1 เจ้าหนี้รายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และเจ้าหนี้รายที่ 4 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่มีเจ้าหนี้หรือลูกหนี้คัดค้านคำขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นให้เจ้าหนี้ทั้งสามรายมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เจ้าหนี้ทั้งสามได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 18 มีนาคม 2542 ต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ เพราะผู้ร้องเสียหายเนื่องจากผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2542แล้วแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง เพราะเหตุว่าผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดทั้งความจริงลูกหนี้ก็มิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 18 มีนาคม 2542 ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่าเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2542 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 7114/2539 ของศาลแพ่งลงวันที่ 10 พฤษภาคม2539 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้วมีความเห็นว่าผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 ให้ยกคำขอ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 135(2) หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องดังกล่าว เพราะโจทก์จำเลยคบคิดกันฉ้อฉลให้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย ทั้งที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน และจำเลยเป็นบริษัทมีทุนจดทะเบียนถึง 60,000,000 บาท และยังมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 400,000,000 บาท นั้น เห็นว่าแม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ แต่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง ดังนี้ ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 135 ได้ นอกจากนี้แล้วเหตุต่าง ๆ ที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้นั้นล้วนแต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งเป็นข้อที่ศาลชั้นต้นจะพึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 คือถ้ามีเหตุดังกล่าวที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายศาลก็จะพิพากษายกฟ้อง แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกเอาเหตุดังกล่าวมาขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 135(2) ได้อีก
พิพากษายืน