คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1358/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เช่าช่วงจะยกการเช่าซึ่งไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ให้เช่าช่วงไม่ได้
ผู้เช่าที่ดินมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ที่เข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินที่เช่าได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตจากผู้ให้เช่าก่อน แม้ผู้ให้เช่าจะเคยตอบผู้เช่าว่า ถ้าพิจารณาฟังได้ว่าผู้เช่าให้เช่าช่วงจริงก็หมดสิทธิในการเช่าและจะเรียกที่ดินคืนนั้น เพียงเท่านี้ไม่เป็นเหตุให้ผู้เช่าหมดสิทธิในการเช่าที่ดิน ผู้เช่ายังคงมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ที่เข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินที่เช่าได้
คำให้การของจำเลยต่อสู้เพียงว่า จำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินตามที่โจทก์ฟ้อง โดยการเช่าช่วงจากโจทก์มิได้โต้แย้งว่ามีนิติกรรมอำพรางหรือการเช่าร่วม คำว่านิติกรรมอำพรางเพิ่งมาปรากฏต่อเมื่อจำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านในการที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์จำเลยสืบพยานได้เฉพาะประเด็นค่าเสียหาย ส่วนคำว่า การเช่าร่วม มาปรากฏในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ดังนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เช่าที่ดินของกรมศิลปากร อยู่ที่ตำบลโพธิ์เก้าต้นอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 200 ตารางวา ปรากฏตามสำเนาสัญญาเช่าท้ายฟ้อง โจทก์ปลูกบ้านอยู่อาศัยครอบครองมา เมื่อ 4 ปีมานี้พันตรีสังสิทธิ์พี่ชายโจทก์และเป็นสามีจำเลยได้ขออาศัยปลูกเรือนในที่ดินดังกล่าวชั่วคราว เมื่อพันตรีสังสิทธิ์ตายจำเลยได้ขออาศัยอยู่ต่อมาและกลับปลูกห้องต่อเติมกีดขวางทางเดิน ทำให้โจทก์เข้าออกทางสาธารณะไม่ได้ โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไป จำเลยไม่ยอมรื้อ โจทก์เสียหายเดือนละ 100 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโจทก์ห้ามมิให้เกี่ยวข้องและให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 300 บาท และต่อไปเดือนละ 100 บาท จนกว่าจะรื้อถอนไป

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเช่าช่วงที่พิพาทจากโจทก์ค่าเช่าปีละ 50 บาท ไม่เคยมีข้อตกลงขออาศัย หน่วยศิลปากรไม่อนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีกับจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเช่าช่วง 10 กว่าปีแล้ว ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่ากับหน่วยศิลปากร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมในเรื่องค่าเสียหาย ถ้าโจทก์จะให้จำเลยออกจากที่ดิน จำเลยขอเรียกค่าวัสดุก่อสร้างและค่ารื้อถอน 50,000 บาท

ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย และสั่งให้คู่ความสืบพยานเฉพาะประเด็นเรื่องค่าเสียหาย แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยปลูกเรือนอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์สมควรได้ค่าเสียหายเดือนละ 50 บาท พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินที่โจทก์เช่า ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไป

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่จำเลยฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองให้งดสืบพยานจำเลยในประเด็นที่จำเลยต่อสู้ว่าเช่าช่วง ไม่เป็นการเหมาะสมกับรูปคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะสั่งงดสืบพยานในประเด็นข้ออื่นศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2511 จำเลยแถลงว่าได้เช่าช่วงกันด้วยวาจา และที่ว่ามอบเงินให้โจทก์ปีละ 50 บาท ให้โจทก์ไปเสียค่าเช่าให้กรมศิลปากรทุกปีก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่นนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้สืบพยานในประเด็นข้ออื่นนั้นชอบแล้ว เพราะในการที่ผู้เช่าจะยกการเช่าขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ยอมออกจากที่เช่าจะต้องมีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือ มิฉะนั้นศาลก็จะไม่บังคับให้ผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่าคงอยู่ในที่เช่าต่อไป

ที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นมิได้ยกเอาข้อตัดฟ้องของจำเลยในข้อที่ว่าหน่วยศิลปากรไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีกับจำเลยและยังตอบมาว่าถ้าพิจารณาฟังได้ว่าเป็นการเช่าช่วงจริงโจทก์ก็หมดสิทธิในการเช่าและจะเรียกที่ดินคืนขึ้นวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าโจทก์เป็นผู้เช่าที่พิพาทจากหน่วยศิลปากร จังหวัดลพบุรี โดยมีสัญญาเช่าเป็นหลักฐาน ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่ ผู้มารบกวนการครอบครองของโจทก์ ซึ่งหมายความว่า การฟ้องขับไล่จำเลยเป็นสิทธิของโจทก์ ไม่จำต้องขออนุญาตจากหน่วยศิลปากรส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองยังมิได้ยกข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าหน่วยศิลปากรตอบมาว่า ถ้าพิจารณาฟังได้ว่าเป็นการเช่าช่วงจริง โจทก์ก็หมดสิทธิในการเช่าและจะเรียกที่ดินคืนขึ้นวินิจฉัยโดยงดสืบพยานในข้อนี้นั้น เห็นว่าเป็นเรื่องที่หน่วยศิลปากรปรารภถึงเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นและจะดำเนินการอย่างไรกับโจทก์ต่อไปในอนาคตเท่านั้น เพียงเท่านี้ไม่เป็นเหตุให้โจทก์หมดสิทธิในการเช่า โจทก์จึงยังมีสิทธิฟ้องจำเลยได้

จำเลยฎีกาต่อไปอีกว่า ยังมีนิติกรรมอำพรางและการเช่าร่วมที่จะต้องพิจารณากันต่อไปอีกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จากคำให้การของจำเลย จำเลยคงขอต่อสู้เพียงว่าจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องโดยการเช่าช่วงจากโจทก์ มิได้โต้แย้งว่ามีนิติกรรมอำพรางหรือการเช่าร่วมมาแต่ต้น คำว่านิติกรรมอำพราง เพิ่งมาปรากฏต่อเมื่อจำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านในการที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์จำเลยนำสืบพยานได้เฉพาะในประเด็นค่าเสียหาย ส่วนคำว่า การเช่าร่วม ก็มาปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย เมื่อจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้มาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้

พิพากษายืน

Share