คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7700/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 และในฐานะโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 อีกด้วย เมื่อโจทก์มรณะ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 บัญญัติให้ผู้ถือหุ้นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมของบริษัทในกรณีเช่นนี้ได้ กรณีจึงไม่ใช่โจทก์ฟ้องอันมีลักษณะเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของโจทก์ ผู้ร้องจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่มรณะได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และในฐานะผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาให้การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2543 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2543 ของจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 2 มิใช่กรรมการของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการเพิ่มกรรมการและแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 ตามคำขอจดทะเบียนที่ ส 430519-25 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2543 ออกจากหลักฐานต่างๆ ทางทะเบียน กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายวิวัฒน์ คัณธามานนท์ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าโจทก์ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องเป็นบุตรของโจทก์ขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2543 และเพิกถอนการจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 1 โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และผู้ถือหุ้น ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นข้อพิพาทที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องจึงไม่อาจขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะ และเมื่อได้ความว่าโจทก์ถึงแก่ความตายแล้ว กรณีมีเหตุอันสมควรให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลไม่เกิน 200 บาท จึงไม่คืนให้
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ผู้ร้องมีสิทธิเข้ามาเป็นโจทก์แทนโจทก์ผู้มรณะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นอกจากจะฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว ยังฟ้องในฐานะโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 อีกด้วย เมื่อโจทก์มรณะ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ก็บัญญัติให้ผู้ถือหุ้นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมของบริษัทในกรณีเช่นนี้ได้ กรณีจึงไม่ใช่โจทก์ฟ้องอันมีลักษณะเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของโจทก์ ผู้ร้องจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่มรณะได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share