คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 77/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังลอยตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง9ฉบับจำเลยจึงมีความผูกพันร่วมกับบริษัทจ.ผู้ออกตั๋วรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง9ฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา919,967และ985 โจทก์แจ้งการรับโอนสิทธิเรียกร้องและทวงถามหนี้จากจำเลยเมื่อวันที่24พฤศจิกายน2530จำเลยได้รับการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและทวงถามเมื่อวันที่26พฤศจิกายน2530กรณีเช่นนี้ถือว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยมีผลตามกฎหมายเมื่อวันที่26พฤศจิกายน2530ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทวงถามจำเลยให้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นวันเริ่มต้นถึงกำหนดใช้เงินเพราะก่อนหน้านั้นจำเลยยังไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเพียงแต่ว่าโจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องทวงถามให้ใช้เงินได้ทันทีเท่านั้นเมื่อจำเลยทราบแล้วเพิกเฉยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต้องเริ่มนับแต่วันที่26พฤศจิกายน2530โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่23ธันวาคม2530ยังไม่เกิน1ปีนับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อปลายปี 2526 โจทก์ตกลงให้ความร่วมมือกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อบรรเทาความเสียหายของประชาชนผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินโดยสุจริตที่ออกให้โดยสถาบันการเงินซึ่งมีปัญหาไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้โดยโจทก์ดำเนินการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจริญกรุง จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บ้านและที่ดินไทย จำกัดกับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทย จำกัด ตามหลักการเงื่อนไขและวิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด แต่ปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัททั้งสองดังกล่าวที่โจทก์รับแลกเปลี่ยนบางฉบับ จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 11 ฉบับ ซึ่งตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 11 ฉบับดังกล่าว ผู้ถือตั๋วได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์โดยได้รับความยินยอมจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บ้านและที่ดินไทย จำกัด และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทยจำกัด ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และโจทก์ได้รับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 11 ฉบับ ไว้แล้ว โดยโจทก์ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่มอบให้แก่ผู้ถือตั๋วโดยสุจริตไปแล้วต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งออกโดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บ้านและที่ดินไทยจำกัด 9 ฉบับ เป็นเงิน 14,832,969.69 บาท และออกโดยบริษัทเครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทย จำกัด 200,000 บาทรวมเป็นเงิน 15,032,969.69 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามหน้าตั๋วนับตั้งแต่วันที่โจทก์รับแลกเปลี่ยนตั๋วจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,665,630.70 บาท รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 21,698,600.39 บาท โจทก์แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยทราบและทวงถามให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 21,698,600.39 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 14,832,969.69 บาทกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ลงลายมือชื่อสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้อง ลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินจึงเป็นลายมือชื่อปลอม ลายมือชื่อด้านหลังตั๋วสัญญาใช้เงินไม่อาจมีผลเป็นการสลักหลัง เพราะการสลักหลังจะกระทำก็แต่เพื่อโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดจากตั๋วแก่ผู้รับโอนตั๋วหรือเป็นผู้ทรงก่อนที่จะโอนตั๋วให้แก่บุคคลอื่นต่อไปแต่จำเลยไม่เคยเป็นผู้ทรงมาก่อน ตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเป็นตั๋วระบุห้ามเปลี่ยนมือ จึงไม่อาจมีการสลักหลังเพื่อโอนตั๋วได้และจะทำเป็นการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินก็ไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะการอาวัลต้องระบุข้อความว่าใช้ได้เป็นอาวัล หรือข้อความอย่างอื่นอันมีความหมายทำนองเดียวกัน ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินกับโจทก์กระทำโดยไม่สุจริตและมีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์รับซื้อหนี้สินจากบุคคลอื่น โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินประสบปัญหาในการดำเนินงานโดยขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก่อนตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดอันเป็นผลให้ผู้ออกตั๋วไม่อาจถือประโยชน์จากเงื่อนเวลาได้ดังนั้นผู้ทรงตั๋วต้องฟ้องผู้ออกตั๋วให้ชำระหนี้ การโอนสิทธิเรียกร้องโดยโจทก์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ทรงแทนตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นการซื้อความกันไม่มีผลบังคับได้สิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินขาดอายุความตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ถึง 12 เป็นตั๋วที่ผู้ทรงจะต้องทวงถามตั้งแต่ปี 2526 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2530 เกิน 3 ปี คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 โจทก์ฟ้องจำเลยผู้สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมายเลข 4ถึง 14 ให้รับผิดเกิน 1 ปี ก็ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 14,632,969.69 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันออกตั๋วสัญญาใช้เงินคือวันที่ 12 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง(วันที่ 23 ธันวาคม 2530) ต้องไม่เกิน 6,571,208.78 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจริญกรุง จำกัด รวม 9 ฉบับ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.23ถึง จ.31 ในการโอนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจริญกรุง จำกัดให้ความยินยอมเป็นหนังสือ และธนาคารแห่งประเทศไทยรู้เห็นยินยอม ปัญหาตามฎีกาจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังลอยตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 9 ฉบับหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังลอยตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 9 ฉบับ ไว้จริง จำเลยจึงมีความผูกพันร่วมกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจริญกรุง จำกัด รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 9 ฉบับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 919, 967 และ 985
ปัญหาตามฎีกาจำเลยข้อต่อไปมีว่า การรับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้กระทำโดยชอบและมีผลผูกพันจำเลยหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์มีนายสญชัย เกษมสวัสดิ์ ทนายโจทก์เบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2530โจทก์ส่งตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจริญกรุงจำกัด บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บ้านและที่ดินไทย จำกัดกับของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทย จำกัดรวม 11 ฉบับ มาให้พยานตรวจ และมีหนังสือทวงถามและแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลย พยานได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้อง และทวงถามให้ชำระหนี้ไปยังจำเลยแล้วปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยรับทราบแล้วตามเอกสารหมาย จ.4 ที่จำเลยฎีกาปฏิเสธความรับผิดจากการโอนสิทธิเรียกร้องว่าจำเลยไม่ได้ร่วมยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้อง และไม่เคยรับแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องจึงฟังไม่ขึ้น เพราะโจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการโอนสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและแจ้งการโอนให้จำเลยทราบ การโอนจึงมีผลสมบูรณ์แล้วจำเลยในฐานะผู้สลักหลังลอยตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมีความผูกพันต้องรับผิดต่อโจทก์ข้อโต้แย้งตามฎีกาจำเลยที่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์กระทำภายหลังจำเลยนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปเรียกเก็บเงินไม่ได้จึงเป็นโมฆะเพราะเป็นการรับโอนมาเพื่อค้าความ ขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย ฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า การโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยอยู่ในวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว ทั้งเจตนารับโอนเพื่อบรรเทาความเสียหายของผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินโดยสุจริตตามความประสงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทยโจทก์มิได้มีเจตนาจะรับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเพื่อค้าความดังจำเลยอ้างทั้งการแจ้งการรับโอนให้จำเลยทราบภายหลังโจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ก็หาทำให้จำเลยผู้สลักหลังลอยตั๋วสัญญาใช้เงินพ้นความรับผิดแต่อย่างใด เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับว่าโจทก์ต้องแจ้งในทันที
ปัญหาตามฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าโจทก์มอบหมายให้นายสญชัยทนายความโจทก์แจ้งการรับโอนสิทธิเรียกร้อง และทวงถามหนี้จากจำเลยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2530 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3และจำเลยโดยผู้รับแทนได้รับการแจ้ง การโอนสิทธิเรียกร้องและทวงถามเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 กรณีเช่นนี้ถือว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยมีผลตามกฎหมายเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทวงถามจำเลยให้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นวันเริ่มต้นถึงกำหนดใช้เงิน เพราะก่อนหน้านั้นจำเลยยังไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท เพียงแต่ว่าโจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องทวงถามให้ใช้เงินได้ทันทีเท่านั้น เมื่อจำเลยทราบแล้วเพิกเฉยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัด อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต้องเริ่มนับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่23 ธันวาคม 2530 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share