แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้เสียหายได้ชี้ตัวจำเลยในชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งอย่างใด แม้ขณะที่ยืนเข้าแถวให้ชี้ตัวจำเลยมีผ้าพันแผลที่แขนซ้ายต่างจากคนอื่นๆ เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งให้ผู้เสียหายทราบล่วงหน้าก่อนชี้ตัวว่าจำเลยมีผ้าพันแผลดังกล่าว จะตั้งข้อสงสัยเอาและถือเป็นพิรุธย่อมจะไม่ได้เพราะมีข้อแตกต่างอื่นๆ อีกหลายประการระหว่างจำเลยกับคนอื่น ๆเช่น เสื้อผ่้าและรูปร่างผิวพรรณ ซึ่งถ้าจะแจ้งแก่ผู้เสียหายให้รู้ว่า จำเลยคืนคนไหน ย่อมทำได้อยู่แล้ว ข้อที่มีผ้าพันแผลดังกล่าวจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่เชื่อถือการชี้ตัวจำเลย.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่ยังหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก 2 คน ร่วมกันมีอาวุธปืน ขนาด .38 ไม่มีหมายเลขทะเบียนและกระสุนปืน 1 นัด ไว้ครอบครองและพาอาวุธปืนฯ ไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ได้ร่วมกับพวกปล้นรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อยามาฮ่า 1คัน ราคา 15,000 บาท ของนายพงษ์ศักดิ์ ลิปิการกุล ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของนายวิเชียร ลิปิการกุล ผู้เสียหาย ไปโดยทุจริต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 80, 83 และมาตรา 340, 80 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรีแต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 289, 80, 83 ประกอบด้วยมาตรา 52 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยรับสารภาพชั้นสอบสวนลดให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุก 33 ปี4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2529 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะที่นายวิเชียรลิปิการกุล ผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนนเพชรเกษม ในตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี คนร้าย 3 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าไปประกบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย และคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายคนกลางใช้อาวุธปืนสั้นยิงถูกผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บโดยคนร้ายจะเอารถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับขี่ไป แต่ผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์หนีไปได้ คนร้ายจึงเอารถจักรยานยนต์ไปไม่ได้และแพทย์รักษาผู้เสียหายไว้ทัน ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตายคดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมกับพวกกระทำผิดรายนี้โดยเป็นคนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์มีประจักษ์พยานคือผู้เสียหายเพียงคนเดียว นอกนั้นเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีเกี่ยวกับการแจ้งความ การพบจำเลยหลังเกิดเหตุการจับกุม การชี้ตัวและคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลย สำหรับผู้เสียหายนั้นเบิกความยืนยันว่า จำได้ว่าจำเลยคือคนร้ายคนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยว่าขณะเกิดเหตุนั้น คนร้ายขับขี่รถจักรยานยนต์ออกมาจากซอยทางซ้ายมือห่างประมาณ 5 เมตร เห็นจากแสงไฟรถจักรยานยนต์ของพยานกับแสงไฟรถยนต์ที่สวนทางมา และว่าก่อนเกิดเหตุนี้ จำเลยได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามผู้เสียหายมาตลอดทางตั้งแต่หน้าวัดพระประโทนจังหวัดนครปฐม เวลาประมาณ 19 นาฬิกา โดยจำเลยไม่ยอมขับแซงขึ้นหน้าไปเมื่อผู้เสียหายลดความเร็ว และเมื่อผู้เสียหายแวะเติมน้ำมันรถที่ปั๊มน้ำมัน จำเลยก็ขับขี่รถจักรยานยนต์เลยปั๊มน้ำมันไป 2-3เสาไฟฟ้า และชะลอรถรออยู่ เมื่อผู้เสียหายออกจากปั๊มน้ำมันก็ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์แซงขึ้นหน้าจำเลยไป จำเลยก็ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามไปเรื่อย ๆ จนผู้เสียหายหยุดรถสูบบุหรี่ที่สามแยกหนองโพก็เห็นจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านไป ข้อที่ว่าผู้เสียหายจะได้เห็นจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ตามมาดังที่ผู้เสียหายเบิกความหรือไม่นั้น เห็นว่า คำเบิกความของผู้เสียหายประกอบด้วยรายละเอียดสมจริง น่าเชื่อถือและตรงกับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเองที่ได้ให้การในการสอบสวนเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 29มกราคม 2529 ซึ่งพนักงานสอบสวนถามว่า ก่อนที่จำเลยกับพวกจะปล้นทรัพย์พยานได้เห็นจำเลยที่ใดบ้างหรือไม่ ผู้เสียหายตอบว่าเห็นที่ข้างใต้สะพานลอย หมู่บ้านหนองตะแคง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จึงเชื่อได้ว่าผู้เสียหายได้เห็นคนร้ายขับขี่รถจักรยานยนต์ตามผู้เสียหายมาก่อนเกิดเหตุ ส่วนที่ว่าผู้เสียหายจะเห็นคนร้ายชัดเจนและนานพอจำได้หรือไม่นั้น เห็นว่า สำหรับตอนคนร้ายขับขี่รถจักรยานยนต์ตามผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายเบิกความว่า ตอนเห็นคนร้ายครั้งแรกที่สะพานลอยที่อำเภอเมืองนครปฐมนั้นห่างกัน 5 เมตรเห็นจากแสงไฟของรถที่สวนทางมา ตรงสะพานลอยมีหลอดไฟฟ้าที่เสาไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 10 ต้น ส่องพอมองเห็นกันได้ชัด และผู้เสียหายยังเห็นคนร้ายอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะที่สามแยกหนองโพที่ผู้เสียหายหยุดรถสูบบุหรี่นั้นผู้เสียหายเบิกความว่า มีแสงสว่างจากไฟฟ้าทั้งสองฟากถนนรวมประมาณ 20 กว่าดวง สว่างมากพอที่จะมองเห็นกันได้ชัดเจน เช่นนี้ แม้ผู้เสียหายจะเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าการเห็นคนร้ายแต่ละครั้งเห็นเพียงแวบเดียว แต่เป็นการเห็นหลายครั้งและโดยมีเหตุที่จะสังเกตและสนใจเพราะมีการขับขี่รถจักรยานยนต์ติดตาม จึงเชื่อว่าเห็นชัดเจนและนานพอจำได้ และสำหรับในที่เกิดเหตุนั้นเป็นการเห็นตอนขับขี่รถจักรยานยนต์ออกมาจากซอย ไฟรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายกับแสงไฟรถที่สวนทางมา ก็เชื่อว่าเห็นชัดเจนและจำได้ทั้งยังปรากฏว่า ผู้เสียหายได้ให้การต่อร้อยตำรวจตรีโชคชัยเหลืองอร่าม พนักงานสอบสวนในวันรุ่งขึ้นว่าผู้เสียหายจำคนร้ายได้เป็นการสนับสนุนว่าผู้เสียหายจำคนร้ายได้จริงและสำหรับพยานแวดล้อมกรณีนั้น ประการแรกมีสิบตำรวจโทสมศักดิ์ เกื้อสงฆ์ เบิกความว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะที่พยานปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ป้อมยามตำบลหนองโพ ได้พบจำเลยนี้ขับขี่รถจักรยานยนต์มีคนนั่งซ้อนท้าย 2 คน มุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครปฐม ด้วยลักษณะผิดสังเกตคือไม่เปิดไฟ หลังจากนั้นพยานจึงได้รับแจ้งทางวิทยุจากสถานีตำรวจภูธรบางแพ ถึงเหตุคดีนี้ พยานจึงได้ส่งวิทยุแจ้งสถานีตำรวจภูธรอำเภอโพธาราม และเมื่อจำเลยถูกจับพยานก็ได้ชี้ตัวถูกต้อง โดยมีร้อยตำรวจตรีโชคชัย เหลืองอร่าม เบิกความสนับสนุน ส่วนพยานเกี่ยวกับการจับกุมนั้นแม้จะเป็นเรื่องที่จำเลยถูกจับกุมในอีกคดีหนึ่งในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านโป่งและจำเลยให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำผิดคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจจึงได้ติดต่อกันและนำจำเลยมาดำเนินคดีนี้ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เมื่อระยะทางระยะเวลาและพฤติการณ์แห่งคดีใกล้เคียงกัน นอกจากจะไม่เป็นพิรุธแล้วยังสนับสนุนให้เชื่อว่าจำเลยกระทำผิดอีกด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏว่า ผู้เสียหายได้ชี้ตัวจำเลยในวันที่ 27 มกราคม 2529 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 และภาพถ่ายหมาย จ.5 ซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งอย่างใด ส่วนที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่ยืนเข้าแถวให้ชี้ตัวจำเลยมีผ้าพันแผลที่แขนซ้ายต่างจากคนอื่น ๆ นั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการแจ้งให้ผู้เสียหายทราบล่วงหน้าก่อนชี้ตัวว่าจำเลยมีผ้าพันแผลดังกล่าว จะตั้งข้อสงสัยเอาและถือเป็นพิรุธย่อมจะไม่ได้ เพราะเท่าที่ปรากฏจากภาพถ่ายการชี้ตัว มีข้อแตกต่างอื่น ๆ อีกหลายประการระหว่างจำเลยกับคนอื่น ๆ เช่น เสื้อผ้าและรูปร่างผิวพรรณ ซึ่งถ้าจะแจ้งแก่ผู้เสียหายให้รู้ว่าจำเลยคือคนไหนย่อมทำได้อยู่แล้ว ข้อที่มีผ้าพันแผลดังกล่าวจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่เชื่อถือการชี้ตัวจำเลย ส่วนพยานหลักฐานโจทก์ประการสุดท้ายเกี่ยวกับคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยนั้นร้อยตำรวจตรีโชคชัย เหลืองอร่าม พนักงานสอบสวนเบิกความว่าได้รับตัวจำเลยมาและได้สอบสวนจำเลยในวันที่ 27 มกราคม 2529 จำเลยให้การรับสารภาพ ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.10 ได้ให้จำเลยพาไปนำชี้ที่เกิดเหตุและบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.11 และได้ถ่ายภาพการนำชี้ที่เกิดเหตุตามภาพถ่ายหมาย จ.12 เห็นว่า คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยประกอบด้วยรายละเอียดสมจริง การนำชี้ที่เกิดเหตุและการถ่ายภาพก็กระทำโดยเปิดเผย น่าเชื่อว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุด้วยความสมัครใจ จำเลยอ้างว่าถูกทำร้ายเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่น่าเชื่อ พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น