คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7698/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำให้การของจำเลยรับข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า การประเมินภาษีรายพิพาทเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินต้องกระทำภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 88/6 (1) (ก) เจ้าพนักงานประเมินไม่ได้ประเมินภาษีรายพิพาทภายในกำหนดเวลาสองปีดังกล่าว ข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยที่ว่า เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีรายพิพาทภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันดังกล่าวได้ โดยอนุมัติอธิบดี ตามมาตรา 88/6 วรรคสอง แห่ง ป. รัษฎากร เป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ และกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยฝ่ายเดียว ภาระการพิสูจน์ในปัญหานี้จึงตกแก่จำเลย แม้ศาลภาษีอากรกลางกำหนดให้โจทก์นำสืบพยานก่อน และโจทก์ไม่ได้สืบพยานในปัญหานี้ จำเลยก็มีหน้าที่นำสืบพยานให้รับฟังได้ว่า การประเมินภาษีรายพิพาทเจ้าพนักงานประเมินกระทำโดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว
เอกสารที่อนุมัติให้ประเมินภาษีโจทก์เกินสองปี ผู้อนุมัติมีตำแหน่งเป็นสรรพากรภาค 5 และระบุว่าผู้อนุมัติปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร แม้คำว่า “อธิบดี” จะหมายความรวมถึง ผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ตามมาตรา 2 แห่ง ป. รัษฎากร แต่จำเลยไม่นำสืบให้ปรากฏว่า สรรพากรภาค 5 เป็นผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายให้มีอำนาจอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินแทนอธิบดีกรมสรรพากรได้ การที่จำเลยส่งเอกสารหมาย ล. 1 แผ่นที่ 1 ถึง 3 ที่เป็นคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายให้สรรพากรภาคมีอำนาจอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวได้ พร้อมกับเอกสารอื่น มีผลแต่เพียงว่าจำเลยมีสิทธินำสืบเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้เท่านั้น หามีผลให้ศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารนั้นด้วยไม่ จำเลยไม่ได้นำสืบถึงความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว ซึ่งเป็นสำเนา ทั้งไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ลงนามรับรองถูกต้องเป็นผู้ที่รับรองเอกสารได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (3) โจทก์ก็ไม่ได้รับข้อเท็จจริงว่าเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงไม่อาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ว่า สรรพากรภาค 5 เป็นผู้ที่อธิบดีมอบหมายให้มีอำนาจอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีรายพิพาท การประเมินของเจ้าพนักงานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่สั่งให้โจทก์ชำระเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,612,108.87 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า การประเมินภาษีรายพิพาท เจ้าพนักงานประเมินได้กระทำโดยอนุมัติอธิบดีตาม ป. รัษฎากร มาตรา 88/6 วรรคสอง หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำให้การของจำเลยรับข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ว่า การประเมินภาษีรายพิพาทเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินต้องกระทำภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตาม ป. รัษฎากร มาตรา 88/6 (1) (ก) เจ้าพนักงานประเมินไม่ได้ทำการประเมินภาษีรายพิพาทภายในกำหนดเวลาสองปีดังกล่าว ข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยที่ว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีรายพิพาทภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันดังกล่าวโดยอนุมัติอธิบดี เพราะเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องตาม ป. รัษฎากร มาตรา 88/6 วรรคสอง เป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ และกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยฝ่ายเดียว ภาระพิสูจน์ในปัญหานี้จึงตกแก่จำเลย แม้ศาลภาษีอากรกลางจะกำหนดให้โจทก์นำสืบพยานก่อน และโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานในปัญหานี้ จำเลยก็มีหน้าที่ต้องนำสืบพยานให้รับฟังได้ว่า การประเมินภาษีรายพิพาทเจ้าพนักงานประเมินกระทำโดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว
เอกสารที่อนุมัติให้ประเมินภาษีโจทก์เกินสองปี ผู้อนุมัติมีตำแหน่งเป็นสรรพากรภาค 5 และระบุว่าผู้อนุมัติปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร แม้คำว่า “อธิบดี” จะหมายความรวมถึง “ผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย” ตามที่บัญญัติใน ป. รัษฎากร มาตรา 2 แต่จำเลยไม่ได้นำสืบพยานให้ปรากฏว่าสรรพากรภาค 5 เป็นผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายให้มีอำนาจอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินแทนอธิบดีกรมสรรพากร การที่จำเลยส่งเอกสารหมาย ล. 1 แผ่นที่ 1 ถึง 3 ที่เป็นคำสั่งอธิบดีกรมสรรพากรที่มอบหมายให้สรรพากรภาคมีอำนาจอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 88/6 ได้ เป็นพยานหลักฐานของจำเลยที่รับฟังได้ตามกฎหมายและศาลต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวนั้น เห็นว่า การส่งเอกสารต่อศาลเป็นขั้นตอนการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดคดีภาษีอากรของศาลภาษีอากรว่าด้วยการสืบพยานซึ่งเป็นหลักในเบื้องต้นว่าเอกสารเหล่านั้นใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมายเท่านั้น หาได้มีผลถึงขนาดให้ถือว่าเอกสารเหล่านั้นมีอยู่ เป็นเอกสารที่แท้จริงและข้อความตามเอกสารถูกต้องทุกประการด้วยไม่ คู่ความฝ่ายที่อ้างหรือส่งเอกสารยังคงมีหน้าที่ต้องนำสืบถึงความมีอยู่ ความแท้จริงและความถูกต้องของข้อความในเอกสารเช่นว่านั้น การที่จำเลยส่งเอกสารหมาย ล. 1 แผ่นที่ 1 ถึง 3 ต่อศาลพร้อมเอกสารอื่นของจำเลยมีผลเพียงว่าจำเลยมีสิทธินำสืบเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้ตามกฎหมายเท่านั้น หามีผลทำให้ศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารนั้นด้วยไม่ เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบถึงความมีอยู่และความถูกต้องแท้จริงของเอกสารหมาย ล. 1 แผ่นที่ 1 ถึง 3 กับปรากฏตามเอกสารนั้นว่าเป็นสำเนา ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ลงนามรับรองถูกต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่อาจรับรองสำเนาเอกสารได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (3) และโจทก์ไม่ได้ตกลงว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว ตลอดจนไม่มีการดำเนินการสอบถามโจทก์ว่าจะยอมรับข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นหรือไม่ ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2544 ข้อ 19 และ 20 จึงไม่อาจรับฟังตามเอกสารหมาย ล. 1 แผ่นที่ 1 ถึง 3 ว่าสรรพากรภาค 5 เป็นผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายให้มีอำนาจอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีรายพิพาท การประเมินภาษีรายพิพาทของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 88/6 แห่ง ป. รัษฎากร คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 73.1 เลขที่ 05210030/5/100868 ถึง 100887 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ รย/16/2544 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท.

Share