คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจำนองเป็นการทำหนังสือจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตราทรัพย์สินของตนไว้เป็นประกันการชำระหนี้ สาระสำคัญแห่งการจำนองจึงอยู่ที่ข้อความในหนังสือสัญญาจำนองที่จดทะเบียนไว้ สิ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงก็คือ สัญญาจำนองที่ได้จดทะเบียนไว้นั้น เมื่อสัญญาจำนองระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าจำเลยจำนองที่ดินเต็มทั้งโฉนด และสิ่งปลูกสร้างจำนองด้วยทั้งสิ้น จำเลยจะนำสืบว่าได้ตกลงจำนองกันเพียงที่ดินและห้องแถวเพียง 16 ห้องในจำนวน 22 ห้องที่มีอยู่ในเวลาทำสัญญานั้นหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
แม้เอาสารสัญญากู้ที่ลูหนี้ได้ทำไว้กับโจทก์ก่อนหน้าที่จำเลยทำสัญญาจำนองจะได้กล่าวถึงตึกแถวว่าจำนวน 16 คูหาก็ดี ก็เป็นความตกลงคนละเรื่องคนละรายกับสัญญาจำนองรายนี้
แม้ในสัญญาจำนองจำได้กล่าวไว้ว่า ข้อสัญญาอื่น ๆ เป็ฯไปตามสัญญากู้ที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ และตามสัญญากู้กล่าวว่าจำนอง 16 ห้อง แต่เมื่องสัญญาจำนองระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าจำนองที่ดินทั้งโฉนดพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างมากน้องเพียงใดจึงไม่ใช่ข้อสัญญาอื่น ๆ นอกสัญญาจำนอง ดังนั้นจะตีความว่าจำนองเพียง 16 ห้องตามที่กล่าวในสัญญากู้หาได้ไม่
แม้จะถือว่ากรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ได้ยินยอมให้จำเลย+ถอนทรัพย์จำนองบางส่วนออกไปเมื่อยังมิได้จัดการแก้ทะเบียนที่ได้ตราไว้ ก็ไม่กระทบกระเทือนสัญญาจำนองที่มีอยู่
ธนาคารอุตสาหกรรมร้องของให้ศาลสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองของผู้จำนองหลายรายซึ่งตราไว้เป็ฯประกันหนี้รายเดียวกัน ในวงเงินต่าง ๆ กัน ผู้จำนองร่วมกันทำคำแถลงต่อสู้คดีโดยขอให้ศาลยกคำร้องดังกล่าวนั้น เป็นการดำเนินคดีร่วมกัน มิได้เสนอ-ต่อศาลขอแยกพิพาทเรียงรายตัวบุคคล ดังนั้น เมื่อผู้จำนองแพ้คดี ศาลย่อมพิพากษาให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนฝ่ายที่ชนะคดีได้ ไม่จำต้องแบ่งส่วนตามจำนวนเงินที่แต่ละคนจำนอง.

ย่อยาว

โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์เป็นธนาคารอุตสาหกรรมตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๔๙๕ บริษัทภิญญาวัฒน์ จำกัด (จำเลยที่ ๑) ลูกหนี้ได้กู้เงินจากโจทก์ไป ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยให้หลักทรัพย์ตามบัญชีรายละเอียดเป็นประกัน ในการกู้เงินนี้ มีผู้นำทรัพย์มาจำนองเป็ฯประกัน ๗ รายการ (ผู้จำนอง คือ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗) โดยประกันเงินจำนวนต่าง ๆ กัน บัดนี้จำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ได้ทวงหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองให้ลูกหนี้และผู้จำนองทราบแล้วก็ไม่ปฏิบัติตาม รวมต้นเงินและดอกเบี้ยค้าง ๓,๙๒๕,๔๙๕ บาท ตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารอุตสาหกรรม พ.ศ.๒๔๙๕ ธนาคารมีสิทธิที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อขายทอดตลาดทรัพย์ที่ได้จำนำจำนองหรือมอบให้โดยประการอื่นเพื่อเป็นประกันเงินกู้ ขอให้ศาลสั่งไต่สวนและขายทอดตลาดทรัพย์เอาเงินชำระหนี้โจทก์
จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นลูกหนี้และจำเลยนอกนั้นซึ่งเป็นผู้จำนองยื่นคำแถลงคัดค้านขอให้ยกคำร้องโดยอ้างเหตุหลายประการ
ศาลชั้นต้นให้ดำเนินคดีอย่างมีข้อพิพาท และให้เรียกผู้ร้องว่าโจทก์ เรียกผู้แถลงคัดค้านว่าจำเลย
คดีขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะการจำนองของนายชัยรัตน์ ภิญญาวัฒน์จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยนี้ต่อสู้ว่าที่ดินโฉนดที่ ๒๑๕๑ ซึ่งมีตึกแถวปลูกอยู่ ๒๒ ห้องนั้น จำเลย จำนองเพียง ๑๖ ห้องเท่านัน้น อีก ๖ ห้องมิได้จำนองด้วย
ศาลแพ่งฟังว่า การจำนองรวมถึงตึกแถวทั้ง ๒๒ ห้อง จึงพิพากษาว่า โดยเฉพาะโฉนดที่ ๒๑๕๑ การขายทอดตลาดให้ขายทั้งแปลงและตึกแถว ๒๒ คูหา
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๒ และ ๗๑๔ แล้ว วินิจฉัยว่าสัญญาจำนองเป็ฯการทำหนังสือจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตราทรัพย์สินของตนไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ฉะนั้น สาระสำคัญแห่งการจำนองจึงอยู่ที่ข้อความ ในหนังสือสัญญาจำนองที่จดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นสิ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ก็คือ สัญญาจำนองที่ได้จดทะเบียนไว้ จำเลยที่ ๒ ได้ตกลงโดยระบุไว้ในสัญญาจำนองโดยชัดเจนแล้วว่าจำนองที่ดินเต็มทั้งโฉนดที่ ๒๑๕๑ นั้นและสิ่งปลูกสร้างจำนองด้วยทั้งสิ้น ดังนี้ จำเลยจะนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ใขเอกสารนั้นไปในทำนองที่ว่าได้ตกลงจำนองกันเพียงที่ดินและห้องแถวเพียง ๑๖ ห้องในจำวน ๒๒ ห้องที่มีอยู่ในเวลาทำสัญญาจำนองหาได้ไม่ เป็นการต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังตามาตรา ๙๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้เอกสารสัญญากู้ที่บริษัทภิญญาวัฒน์ จำกัด ทำไว้กับโจทก์ก่อนหน้าที่จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาจำนองจะได้กล่าวถึงตึกแถวว่าจำนวน ๑๖ คูหาก็ดี ก็เป็นความตกลงคนละเรื่องคนละรายกับสัญญาจำนองรายนี้
ข้อที่จำเลยที่ ๒ โต้แย้งว่า ในสัญญาจำนองได้กล่าวไว้ว่า “ข้อสัญญาอื่น ๆ เป็นไปตามสัญญากู้เงิน (ที่จำเลยที่ ๑ ผู้กู้ทำไว้กับโจทก์) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จะตีความเช่นนั้นไม่ได้ เพราะในสัญญาจำนองระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าจำนองที่ดินทั้งโฉนดพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างจำนองด้วยทั้งสิ้น ข้อที่ว่าจะจำนองสสิ่งปลูกสร้างมากน้องเพียงใดจึงไม่ใช่ข้อสัญญาอื่น ๆ นอกสัญญาจำนอง
ข้อที่จำเลยที่ ๒ นำสืบว่าจำเลยเคยขอโฉนดจากโจทก์ไปแบ่งแยกตึกแถว ๖ ห้องพร้อมด้วยที่ดินออกจากโฉนดที่จำนอง นายสง่า กรรมการผู้จัดการของโจทก์ได้ตอบรับไม่ขัดข้อง นั้น ข้อนี้เห็นว่าไม่เป็นข้อที่จะนำมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารการจำนองให้เป็นการจำนอง-เพียง ๑๖ ห้องได้ ดังนัยดังกล่าวแล้ว จะถือได้อย่างมากเพียงว่ากรรมการผู้จัดการได้ยินยอมให้จำเลย+ถอนทรัพย์สินที่จำนองไว้ในบางส่วนออกไป ซึ่งเมื่อยังมิได้จัดการแก้ทะเบียน จึงไม่กระทบกระเทือนสัญญาจำนองที่มีอยู่ได้
ที่จำเลยที่ ๒ โต้แย้งในเรื่องค่าธรรมเนียมและค่าทนาย ๔๐,๐๐๐ บาท (ที่ศาลขั้นต้น) ให้จำเลยอื่น ๆ (นอกจากบริษัทศาลาเฉลิมธน จำกัด) เป็นผู้ใช้แทนโจทก์ โดยจำเลยที่ ๒ จะขอให้ศาลแบ่งส่วนตามจำนวนเงินในทรัพย์สินที่จำนองนั้น เห้ฯว่า จำเลยทั้ง ๖ คนได้ร่วมกันทำคำแถลงต่อสู้คดีโจทก์ โดยขอให้ศาลยกคำร้องของโจทก์ เป้ฯการดำเนินคดีร่วมกัน มิได้เสนอต่อศาลขอแยกพิพาทเรียงรายตัวบุคคลอย่างใดเลย ศาลแพ่งพิพากษาให้ร่วมกันรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมค่าค่าทนายจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share