แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 5 แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าไม่ว่าหนี้ในปัจจุบันหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จำเลยที่ 5 ต้องชำระต่อจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ ซึ่งในหนังสือยังแจ้งด้วยว่า แม้ใบเรียกเก็บเงินบางฉบับอาจจะไม่มีข้อความที่ระบุข้างต้นก็ขอชำระเงินให้แก่โจทก์ตามรายการในใบเรียกเก็บเงินทุกใบต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นลายลักษณ์อักษร แสดงให้เห็นว่าเป็นการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ค่าขายสินค้าที่จำเลยที่ 5 มีต่อจำเลยที่ 1 ที่จะเกิดขึ้นต่อไปทั้งหมด มิได้เป็นการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เฉพาะราย หลังจากนั้น จำเลยที่ 5 ยังได้สั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 หลายครั้งและชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ดังนั้นการซื้อขายสินค้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 จึงเป็นการซื้อขายแบบต่อเนื่องไม่ใช่เป็นการซื้อขายสินค้าเจาะจงเฉพาะสิ่ง การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าจึงรวมถึงหนี้ค่าสินค้ารายการที่ 1 ถึง 14 ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าให้แก่จำเลยที่ 5 ทราบแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 5
สินค้ารายการที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้โอนขายสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าสินค้าโดยคิดรวมในส่วนที่ไม่ได้ส่งมอบดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย จึงเป็นการโอนขายสิทธิเรียกร้องเกินกว่าสิทธิที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้รายการดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้อง (ในประเทศ) กับโจทก์ ตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะนำสิทธิและผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในหนี้อันเกิดขึ้นจากการขายสินค้าเชื่อหรือการให้บริการแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 มาขายให้แก่โจทก์เป็นคราว ๆ ไป และเมื่อโจทก์ตกลงรับซื้อสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ให้บรรดาสิทธิและผลประโยชน์ใด ๆ ในหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากลูกค้าของจำเลยที่ 1 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสิ้น โดยโจทก์จะชำระเงินเบื้องต้นให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่าตามใบเรียกเก็บเงินของหนี้ หักด้วยค่าธรรมเนียมการขายโอนสิทธิเรียกร้องในอัตราร้อยละ 0.5 ของจำนวนหนี้ที่ขายและโจทก์คิดค่าธรรมเนียมการชำระเงินเบื้องต้นจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินเบื้องต้นแก่จำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้นั้นเต็มจำนวน หากลูกค้าของจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ให้โจทก์เต็มจำนวนค่าความสูญหายและความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ในการนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 5 มาขายแก่โจทก์รวม 14 ครั้ง รวมเป็นเงิน 4,861,515.57 บาท โจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วรวมเป็นเงิน 4,357,862.56 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 5 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดในหนี้เงินที่จำเลยที่ 1 รับไปจากโจทก์จำนวน 4,357,862.56 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมการชำระเงินเบื้องต้นในอัตราร้อยละ 16.25 ของยอดเงินดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับเงินไปจากโจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 429,560.57 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 4,787,423.13 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 ต้องรับผิดชำระเงินค่าสินค้าเชื่อแก่โจทก์จำนวน 4,861,515.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระในแต่ละรายการคิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 161,513.29 บาท รวมเป็นเงิน 5,023,029.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,861,515.57 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดชำระเงิน 4,357,862.56 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมการชำระเงินเบื้องต้น 429,560.57 บาท และค่าธรรมเนียมการชำระเงินเบื้องต้นในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงิน 4,357,862.56 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 5 ให้การว่า สัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไม่สมบูรณ์เพราะไม่ระบุส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่าสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับผู้ใด ในมูลหนี้อะไร โจทก์จึงนำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 5 ไม่ได้ จำเลยที่ 5 ไม่ได้เป็นหนี้ค่าสินค้าแก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ 3.1 ถึงข้อ 3.5 เพราะสินค้าตามฟ้องข้อ 3.1 จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่ 5 ส่วนสินค้าตามฟ้องข้อ 3.2 ถึงข้อ 3.5 จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ไปแล้ว โดยสินค้าตามฟ้องข้อ 3.2 และ 3.5 จำเลยที่ 5 เป็นหนี้เพียง 245,724.60 บาท และ 1,005,840 บาท และจำเลยที่ 5 ชำระหนี้ไปแล้ว จำเลยที่ 5 คงเป็นหนี้ค่าสินค้าตามฟ้องข้อ 3.6 ถึงข้อ 3.14 แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 485,286.57 บาท เท่านั้น จำเลยที่ 5 เคยแจ้งให้โจทก์และจำเลยที่ 1 รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่รับจำเลยที่ 5 จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้ชำระค่าโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 1 การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้เงิน 4,787,423.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงิน 4,357,862.56 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระต้นเงิน 4,357,862.56 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 5 ใช้เงิน 485,286.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีของต้นเงินค่าสินค้าในแต่ละจำนวนนับแต่วันที่หนี้ค่าสินค้าแต่ละจำนวนตามรายการที่ 6 ถึงที่ 14 ตามรายละเอียดการคำนวณภาระหนี้เอกสารหมาย จ.42 ครบกำหนดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 5,019,537.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีของต้นเงิน 4,858,651.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ในวงเงิน 4,787,423.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงิน 4,357,862.56 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ขายสินค้าเชื่อแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ โดยตกลงจะนำสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาโอนขายแก่โจทก์เป็นคราว ๆ ไป หากถึงกำหนดชำระหนี้ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้หนี้ให้โจทก์เต็มจำนวนโดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้อง (ในประเทศ) และสัญญาค้ำประกันหนี้อันต่อเนื่องโดยบุคคลธรรมดาเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2538 โจทก์และจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 5 ทราบ และให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ที่มีอยู่ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตแก่โจทก์โดยตรง ตามหนังสือเรื่องการขายโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย จ.11 หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 8 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 นำสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าจากจำเลยที่ 5 รวม 14 รายการ ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.13 จ.16 จ.18 จ.20 จ.22 จ.24 จ.26 จ.28 จ.30 จ.32 จ.34 จ.36 จ.38 และ จ.40 ตามลำดับรวมเป็นเงิน 4,861,515.57 บาท โอนขายแก่โจทก์ แต่เมื่อหนี้แต่ละรายการถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 5 ผิดนัดชำระหนี้ค่าสินค้ารายการที่ 6 ถึงที่ 14 เป็นเงิน 485,286.57 บาท และปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้ค่าสินค้ารายการที่ 1 ถึงที่ 5 ให้โจทก์ อ้างว่าจำเลยที่ 1 ส่งสินค้าให้ไม่ครบถ้วน และจำเลยที่ 5 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไปครบถ้วนตามจำนวนสินค้าที่ได้รับแล้ว
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อแรกว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้แก่โจทก์ได้ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 5 อ้างว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย จ.11 เพียงครั้งเดียว ก่อนเวลาที่จำเลยที่ 5 สั่งซื้อสินค้ารายการที่ 1 ถึงที่ 14 ตามรายละเอียดการคำนวณภาระหนี้เอกสารหมาย จ.42 จากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแจ้งก่อนที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 5 ถือว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้จำเลยที่ 5 ทราบตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ได้ตามฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 5 แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าไม่ว่าหนี้ในปัจจุบันหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จำเลยที่ 5 ต้องชำระต่อจำเลยที่ 1 ไปให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 แผ่นที่ 2 ซึ่งในหนังสือดังกล่าวยังแจ้งด้วยว่า แม้ใบเรียกเก็บเงินบางฉบับอาจจะไม่มีข้อความที่ระบุข้างต้น ก็ขอชำระเงินให้แก่โจทก์ตามรายการในใบเรียกเก็บเงินทุกใบต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงให้เห็นว่าเป็นการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ค่าขายสินค้าที่จำเลยที่ 5 มีต่อจำเลยที่ 1 ที่จะเกิดขึ้นต่อไปทั้งหมด มิได้เป็นการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เฉพาะราย ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 5 ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 5 ก็ได้สั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 หลายครั้งและชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ดังนั้นการซื้อขายสินค้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 จึงเป็นการซื้อขายแบบต่อเนื่องไม่ใช่เป็นการซื้อขายสินค้าเจาะจงเฉพาะสิ่ง การโอนสิทธิเรียกในหนี้ค่าขายสินค้าจึงรวมถึงหนี้ค่าสินค้ารายการที่ 1 ถึง 14 ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเท่านั้นถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าให้แก่จำเลยที่ 5 ทราบแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 5 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ค่าสินค้าได้ ฎีกาของจำเลยที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อสุดท้ายว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าตามฟ้องรายการที่ 1 ถึงที่ 5 ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.13 จ.16 จ.18 จ.20 และ จ.22 แก่จำเลยที่ 5 ครบถ้วนหรือไม่ และจำเลยที่ 5 ชำระหนี้ค่าสินค้าที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ครบถ้วนหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่าทุกครั้งที่จำเลยที่ 1 นำสิทธิเรียกร้องในหนี้ขายสินค้าแก่จำเลยที่ 5 มาขายให้แก่โจทก์ โจทก์จะตรวจสอบโดยให้พนักงานของโจทก์โทรศัพท์สอบถามไปยังพนักงานของจำเลยที่ 5 ว่ามีการส่งมอบสินค้ากันครบถ้วนตามรายการในใบกำกับสินค้าที่จำเลยที่ 1 มอบไว้แก่โจทก์หรือไม่ เมื่อครบถ้วนแล้วโจทก์จึงจะจ่ายเงินค่าซื้อสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 1 สำหรับการขายสิทธิเรียกร้องค่าสินค้ารายการที่ 1 ถึงที่ 5 ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.13 จ.16 จ.18 จ.20 และ จ.22 พนักงานของโจทก์โทรศัพท์ติดตามสอบถามจนได้รับคำยืนยันจากพนักงานของจำเลยที่ 5 ว่าได้รับสินค้าครบถ้วนทุกรายการแล้ว แต่จำเลยที่ 5 ไม่ยอมชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 5 นำสืบว่าในการสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 จะมีใบสั่งซื้อของจำเลยที่ 5 ระบุรายการสินค้าที่สั่งซื้อไว้และเมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่ 5 แล้วจะต้องมีพนักงานของจำเลยที่ 5 ลงลายมือชื่อรับสินค้าไว้ในใบกำกับสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นหลักฐานเพื่อตรวจสอบกับใบวางบิลเรียกเก็บเงินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 จะชำระค่าสินค้าด้วยเช็คระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงิน หลังจากจำเลยที่ 5 ได้รับแจ้งเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์แล้ว โจทก์ส่งพนักงานของโจทก์มาเก็บเงินค่าสินค้าจากจำเลยที่ 5 โดยถือใบเสร็จรับเงินซึ่งจำเลยที่เป็นผู้ออกมามอบให้จำเลยที่ 5 ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็ยังคงออกเช็คชำระค่าสินค้าระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินให้โจทก์ไปและโจทก์สามารถนำเช็คไปเรียกเก็บเงินได้ทุกครั้ง สำหรับการสั่งซื้อสินค้ารายการที่ 1 เป็นการสั่งซื้อสินค้าตามใบสั่งซื้อแนบท้ายใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.13 อันดับที่ 3 จำนวน 11 หน่วย จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าอันดับที่ 1 ครบ 18 หน่วย และสินค้าอันดับที่ 2 ครบ 6 หน่วย จำเลยที่ 5 ชำระค่าสินค้าแล้วตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.23 และ ล.7 ตามลำดับ ส่วนสินค้าอันดับที่ 3 จำเลยที่ 1 ส่งมอบเพียง 17 หน่วย ขาดไป 11 หน่วย จำเลยที่ 5 ชำระค่าสินค้าตามจำนวนที่ได้รับแล้วตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 สินค้ารายการที่ 2 เป็นการสั่งซื้อสินค้าตามใบสั่งซื้อแนบท้ายใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.16 จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าในลำดับที่ 6 ขาดไป 3 หน่วย จำเลยที่ 5 ชำระค่าสินค้าให้โจทก์ครบตามจำนวนสินค้าที่ได้รับแล้วตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.10 สินค้ารายการที่ 3 เป็นการสั่งซื้อสินค้าตามใบสั่งซื้อสินค้าแนบท้ายใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.18 จำเลยที่ 1 ทยอยส่งสินค้าให้จำเลยที่ 5 หลายครั้งจนครบจำนวน จำเลยที่ 5 ชำระค่าสินค้าให้โจทก์หลายครั้งครบถ้วนแล้ว ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.12 ล.14 ถึง ล.16 ล.18 ล.20 และ ล.21 ส่วนสินค้ารายการที่ 4 และที่ 5 ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.20 และ จ.22 เกี่ยวข้องกับสินค้าตามใบสั่งซื้อสินค้าแนบท้ายใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.13 อันดับที่ 3 และ 1 ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 5 ชำระค่าสินค้าตามใบสั่งซื้อสินค้าแนบท้ายใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.13 ตามจำนวนสินค้าที่ได้รับให้แก่โจทก์ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมายจ ล.5 ถึง ล.7 และ ล.23 แล้ว จำเลยที่ 5 ยังค้างชำระค่าสินค้ารายการที่ 6 ถึง 14 เพียง 485,286.57 บาท เท่านั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะมีนายนภาพล นางสาวขวัญใจ และนางสาวชลาทิพย์ มาเบิกความประกอบใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.13 จ.16 จ.18 จ.20 และ จ.22 ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าตามฟ้องรายการที่ 1 ถึงที่ 5 ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.13 จ.16 จ.18 จ.20 และ จ.20 ให้จำเลยที่ 5 ครบถ้วนแล้ว และได้มีการโทรศัพท์ตรวจสอบกับจำเลยที่ 5 ว่าสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 นำมาขายให้โจทก์ในแต่ละคราวนั้น จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ได้มีการซื้อขายกันจริงและจำเลยที่ 5 ได้รับสินค้าจากจำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าพยานดังกล่าวได้มีส่วนรู้เห็นการส่งมอบสินค้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ทั้งไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าตามใบกำกับสินค้าดังกล่าวให้จำเลยที่ 5 ครบถ้วนจริงหรือไม่ และจำเลยที่ 5 ยังค้างชำระหนี้สินค้าแก่โจทก์เพียงใด ประกอบกับไม่ปรากฏมีผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับสินค้าในใบกำกับสินค้าดังกล่าวไว้ นอกจากนี้โจทก์นำสืบว่าค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.16 อันดับที่ 6 ระบุรายการท่อประปา 50 เส้น แต่จำเลยที่ 5 ได้รับสินค้าเพียง 47 เส้น ขาดไป 3 เส้น แต่โจทก์กลับนำหลักฐานดังกล่าวมาฟ้องเรียกร้องค่าสินค้าจากจำเลยที่ 5 เต็มจำนวนตามฟ้องข้อ 3.2 เป็นเงิน 248,589 บาท ทั้งที่โจทก์ทราบดีแต่ต้นว่าจำเลยที่ 5 ได้รับสินค้าตามใบกำกับสินค้าดังกล่าวไม่ครบถ้วน พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยไม่น่าเชื่อถือ ส่วนจำเลยที่ 5 นอกจากจะมีนายสุฤทธิ์ และนางพูนศรี มาเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบสินค้ารายการที่ 1 ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.13 และส่งมอบสินค้ารายการที่ 2 ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.16 ให้แก่จำเลยที่ 5 ไม่ครบถ้วน แต่ส่งมอบสินค้ารายการที่ 3 ครบ และจำเลยที่ 5 ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์แล้ว โดยมีใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย ล.3 ล.4 ล.8 ล.9 ล.11 ล.13 ล.17 และ ล.22 ซึ่งออกโดยจำเลยที่ 1 มาแสดงประกอบจริง จำเลยที่ 5 ได้รับสินค้าตามใบกำกับสินค้าดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และมีใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.5 ล.6 ล.10 ล.12 ล.14 ถึง ล.16 ล.18 ล.20 ล.21 และ ล.23 มาแสดงสนับสนุนว่า จำเลยที่ 5 ได้ชำระค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์ตามจำนวนสินค้าที่ได้รับครบถ้วนแล้วสอดคล้องต้องกันโดยนายนภาพลเบิกความรับเจือสมว่า จำเลยที่ 5 ได้รับสินค้าและชำระค่าสินค้าครบถ้วนแล้วตามใบกำกับสินค้าและใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจริง ส่วนสินค้ารายการที่ 4 และที่ 5 ตามใบกำกับสินค้าตามเอกสารหมาย จ.20 และ จ.22 จำเลยที่ 5 ให้การว่าได้ชำระค่าสินค้าไปแล้ว แต่นายสุฤทธิ์และนางพูนศรีเบิกความว่า ใบกำกับสินค้าดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อสินค้าตามใบสั่งซื้อสินค้าท้ายใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ชำระค่าสินค้าตามจำนวนที่ได้รับให้แก่โจทก์แล้ว คำให้การของจำเลยที่ 5 ในส่วนนี้จึงหมายความว่าได้รับสินค้าและชำระค่าสินค้าตามจำนวนที่ได้รับตามใบสั่งซื้อท้ายใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งสั่งซื้อในคราวเดียวกันไปแล้วเท่านั้น หาได้หมายความว่าได้รับสินค้าและชำระหนี้ค่าสินค้าที่ไม่มีใบสั่งซื้อสินค้าไม่ เมื่อสินค้ารายการที่ 4 และที่ 5 ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.20 และ จ.22 ไม่ปรากฏหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้าดังเช่นสินค้ารายการอื่นตามฟ้องโจทก์ จึงน่าจะเป็นสินค้าคนละคราวกัน ทั้งใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.20 และ จ.22 ก็ไม่มีผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับมอบสินค้าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังไม่ได้ว่ามีการส่งมอบสินค้ารายการที่ 4 และที่ 5 ให้แก่จำเลยที่ 5 ดังที่โจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 5 จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าตามฟ้องรายการที่ 2 ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.16 ให้แก่จำเลยที่ 5 ไม่ครบ แต่ส่งมอบสินค้ารายการที่ 3 ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.18 ให้แก่จำเลยที่ 5 ครบ และจำเลยที่ 5 ชำระค่าสินค้ารายการที่ 2 และที่ 3 ตามจำนวนสินค้าที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้ารายการที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้แก่จำเลยที่ 5 ดังนั้นจำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ค่าสินค้ารายการที่ 1 ถึงที่ 5 คำพิพากษาของศาลอุทธณณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ชำระค่าสินค้ารายการที่ 2 ในส่วนที่ได้รับ และรายการที่ 3 ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค่าสินค้าในส่วนนี้ต่อโจทก์ แต่สำหรับในส่วนสินค้ารายการที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 5 ไม่ครบจำนวน 2,860.40 บาท และสินค้ารายการที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 5 นั้น จำเลยที่ 1 ได้โอนขายสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าสินค้าโดยคิดรวมในส่วนที่ไม่ได้ส่งมอบดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย จึงเป็นการโอนขายสิทธิเรียกร้องเกินกว่าสิทธิที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 5 เมื่อคำนวณเงินค่าโอนขายสิทธิเรียกร้องในค่าสินค้ารายการที่ 2 ตามฟ้องข้อ 3.2 ที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปจากโจทก์คิดเป็นอัตราร้อยละ 89.64 ของยอดหนี้ค่าสินค้า จึงฟังได้ว่าโจทก์ชำระเงินในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 1 ไปจำนวน 2,564.06 บาท และค่าสินค้ารายการที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้รับไปจากโจทก์จำนวน 903,508.45 บาท 1,314,194.11 บาท และ 1,001,816.64 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 3,222,083.66 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวคืนแก่โจทก์และเมื่อรวมกับหนี้ค่าสินค้ารายการที่ 6 ถึงที่ 14 ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากโจทก์ตามสัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้องตามฟ้องข้อ 3.6 ถึง 3.14 เป็นเงิน 435,010.88 บาท แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,657,094.14 บาท และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในค่าสินค้ารายการที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามสัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้องไปจากโจทก์ตามแต่ละรายการจนกว่าจะชำระเสร็จ กับจำเลยทั้งห้าต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในค่าสินค้ารายการที่ 6 ถึง 14 นับถัดจากวันครบกำหนดชำระตามที่โจทก์นำสืบแต่ละรายการ จนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งหนี้จากการโอนขายสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดในหนี้จำนวน 3,657,094.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับตามสัญญาโอนขายสิทธิเรียกร้องรายการที่ 1 จำนวน 903,508.45 บาท นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2541 รายการที่ 2 จำนวน 2,546.06 บาท นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2541 รายการที่ 4 จำนวน 1,314,194.11 บาท นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2541 รายการที่ 5 จำนวน 1,001,816.64 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2541 รายการที่ 6 จำนวน 166,315.37 บาท นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2541 รายการที่ 7 จำนวน 15,285.59 บาท นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2541 รายการที่ 8 จำนวน 72,799.33 บาท นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2541 รายการที่ 9 จำนวน 74,509.72 บาท นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2541 รายการที่ 10 จำนวน 31,855.99 บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2541 รายการที่ 11 จำนวน 20,996 บาท นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2541 รายการที่ 12 จำนวน 4,341.29 บาท นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2541 รายการที่ 13 จำนวน 26,573.78 บาท นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2541 และรายการที่ 14 จำนวน 22,333.81 บาท นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 5 ร่วมใช้เงินจำนวน 485,286.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าสินค้าที่ครบกำหนดชำระ รายการที่ 6 จำนวน 185,537 บาท นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2541 รายการที่ 7 จำนวน 17,052.20 บาท นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2541 รายการที่ 8 จำนวน 81,213 บาท นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2541 รายการที่ 9 จำนวน 83,121.06 บาท นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2541 รายการที่ 10 จำนวน 35,537.70 บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2541 รายการที่ 11 จำนวน 23,422.58 บาท นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2541 รายการที่ 12 จำนวน 4,843.03 บาท นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2541 รายการที่ 13 จำนวน 29,645 บาท นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2541 และรายการที่ 14 จำนวน 24,915 บาท นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ