คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7683/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังมิได้มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
มาตรา 29 และ 35 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เป็นบัญญัติสำหรับวิธีดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยได้กำหนดเวลาสำหรับยื่นคำคัดค้านไว้ด้วย แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีการคัดค้าน กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 35 และหาเป็นการตัดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนไม่ เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้ว หากโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่างประกอบด้วยตัวอักษรโรมันเดียวกันคือ “K” และ “L” ซึ่งแม้จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษรให้มีลักษณะแตกต่างกัน แต่เครื่องหมายการค้าทั้งสองก็มีสำเนียงเรียกขานว่า “เคแอล” เช่นเดียวกันทั้งสินค้าของโจทก์และของจำเลยเป็นสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และมือจับที่ทำด้วยโลหะเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชน
สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าได้
โจทก์จ้างสถาปนิกให้ออกแบบเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และมือจับซึ่งทำด้วยโลหะของโจทก์ตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โจทก์ยังได้จัดพิมพ์ใบโฆษณาขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่สินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวแก่สาธารณชนมาก่อนจำเลยโดยเฉพาะสินค้าของโจทก์จะมีตัวอักษรโรมันว่า “KL” ติดอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าตัวอักษรโรมันคำว่า “KL” ในสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และมือจับที่ทำด้วยโลหะมาก่อนจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตัวอักษรโรมันดังกล่าวในสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และมือจับที่ทำด้วยโลหะและสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันดีกว่าจำเลย และมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวได้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ๑๕๘๖๙๗ ต่อนายทะเบียน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยต่างประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทวงกบบานประตูและหน้าต่างซึ่งทำด้วยโลหะ โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๒๖ ส่วนจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด สหวัฒน์พาณิช ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ ต่อมาวันที ๖ กันยายน ๒๕๓๔ จำเลยยื่นคำขอ จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นตัวอักษรโรมันในสินค้าจำพวก ๑๘ (เดิม) ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.๑๓ และเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ โจทก์ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นตัวอักษรโรมัน อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีดำ ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.๒๐ ขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพราะเมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว โจทก์จะต้องอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน ๙๐ วัน เสียก่อน ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘ แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวนั้น เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังมิได้มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ฉะนั้น จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและที่จำเลยฎีกาว่า ในขณะที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่พิพาทโจทก์มิได้เข้ามาคัดค้านว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยในเครื่องหมายการค้านั้น ตามมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามความหมายของมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวในอันที่จะร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้นั้นก็ไม่ปรากฏว่ากฎหมายได้บัญญัติไว้ดังที่จำเลยกล่าวอ้างเช่นนั้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา ๒๙ และ ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นบทบัญญัติสำหรับวิธีดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นคำคัดค้านไว้ด้วย แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีการคัดค้าน กรณีจึงไม่ต้องด้วย บทบัญญัติมาตรา ๓๕ และหาเป็นการตัดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนไม่ เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้ว หากโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
ปัญหาที่จำเลยฎีกาต่อไปมีว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจเป็นการทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์และของจำเลยต่างประกอบด้วยตัวอักษรโรมันตัวเดียวกันคือ “K” และ “L” ซึ่งแม้จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษรให้มีลักษณะแตกต่างกัน แต่เครื่องหมายการค้าทั้งสองก็มีสำเนียงเรียกขานว่า “เคแอล” เช่นเดียวกัน ทั้งสินค้าของโจทก์และของจำเลยเป็นสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และมือจับที่ทำด้วยโลหะเช่นเดียวกัน ดังนี้ ถือได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าได้
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่าจำเลยหรือไม่ โจทก์มีนางกัลยา ทีปกรสุขเกษม ผู้เป็นหุ้นส่วนของโจทก์ กับนายไพบูลย์ เกษมสุขสกุล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันสอดคล้อง ต้องกันว่าโจทก์จ้างนายธวัชชัยสถาปนิกให้ออกแบบเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และมือจับซึ่งทำด้วยโลหะของโจทก์ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล นอกจากนี้โจทก์ยังได้จัดพิมพ์ใบโฆษณาขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่สินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวแก่สาธาณชนโดยเฉพาะสินค้าของโจทก์จะมีตัวอักษรโรมันว่า “KL” ติดอยู่ด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้มีการใช้ เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์ อีกทั้งได้ลงประกาศโฆษณาสินค้าและเครื่องหมายการค้าในหนังสือพิมพ์สรุปข่าวตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ เป็นต้นมา ส่วนจำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าตัวอักษรโรมันดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ จริงดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าตัวอักษรโรมันว่า “KL” ในสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และมือจับที่ทำด้วยโลหะ มาก่อนจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตัวอักษรโรมันในสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และ มือจับที่ทำด้วยโลหะและสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันดีกว่าจำเลย และมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวได้ด้วย
พิพากษายืน .

Share