แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เดิมมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้ลูกจ้างหยุดพักรับประทานอาหารตั้งแต่เวลา 9-10.30 นาฬิกา โดยไม่ได้กำหนดเวลาแน่นอนว่าลูกจ้างคนใดจะต้องหยุดพักรับประทานอาหารในเวลาใด ต่อมานายจ้างมีคำสั่งกำหนดเวลารับประทานอาหารแก่ลูกจ้างเป็นเวลาแน่นอน โดยแบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 30 นาที โดยกำหนดตามเวลาในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม เพื่อเป็นระเบียบในการทำงาน ไม่ได้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเวลาใหม่ดังนี้ นายจ้างย่อมมีอำนาจออกคำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติตามได้ ถือว่าเป็นอำนาจในการบริหาร หาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะต้องมีการแจ้งข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ไม่ ลูกจ้างมีหน้าที่คุมเครื่องจักร ได้ละทิ้งหน้าที่ไปรับประทานอาหารก่อนเวลาที่กำหนดเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง โดยไม่มีผู้อื่นมาคุมเครื่องจักรแทน แต่ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นความเสียหายปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการทำงาน และโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายร้ายแรงอย่างไร การละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่ความผิดร้ายแรง โจทก์ไม่อาจเลิกจ้างได้โดยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(3) คำสั่งเลิกจ้างของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม บทบัญญัติมาตรา 41(4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 หาได้จำกัดว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะข้อความตอนท้ายบัญญัติให้อำนาจแก่คณะกรรมการสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามสมควร คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายด้วยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ได้มีคำสั่งที่ 8/2532 สั่งให้โจทก์รับนางสาวแต๋ว สุขศรีใส ลูกจ้างของโจทก์ซึ่งได้เลิกจ้างไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2531 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม ทั้งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่นางสาวแต๋ว สุขศรีใส เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน โดยจำเลยทั้งสิบสี่วินิจฉัยว่า การที่โจทก์เลิกจ้างนางสาวแต๋ว สุขศรีใส เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ความจริงโจทก์ได้เลิกจ้างนางสาวแต๋ว สุขศรีใส เนื่องจากนางสาวแต๋วสุขศรีใส ได้ละทิ้งหน้าที่ออกไปรับประทานอาหารก่อนเวลาที่โจทก์กำหนด เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสิบสี่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มิได้ให้อำนาจแก่จำเลยทั้งสิบสี่ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายแต่อย่างใด จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 8/2532 ของจำเลยทั้งสิบสี่
จำเลยทั้งสิบสี่ให้การว่า โจทก์เปลี่ยนแปลงเวลาพักรับประทานอาหารของลูกจ้างเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างหรือเงื่อนไขการจ้างซึ่งโจทก์ต้องยื่นเป็นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายลูกจ้างตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แล้วมีการตกลงกันตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด แต่ในกรณีนี้โจทก์โดยหัวหน้างานแจ้งให้นางสาวแต๋ว สุขศรีใส ทราบล่วงหน้าเพียง 1-2 ชั่วโมง คำสั่งที่เปลี่ยนแปลงเวลารับประทานอาหารขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม จึงขัดต่อมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 การที่นางสาวแต๋ว สุขศรีใส ลูกจ้างออกไปรับประทานอาหารในเวลา 9.30 นาฬิกา นั้นไม่เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างร้ายแรงคำสั่งที่ 8/2532 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 8/2532 จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสี่เป็นเบื้องแรกว่า คำสั่งของโจทก์ที่กำหนดให้นางสาวแต๋วรับประทานอาหารเมื่อเวลา 10 นาฬิกาเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งจำเลยอุทธรณ์ว่า คำสั่งของโจทก์ที่กำหนดให้ลูกจ้างออกไปรับประทานอาหารเป็นเวลาแน่นอนเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่ลูกจ้าง แต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์มีคำสั่งให้ลูกจ้างกะเช้าหยุดรับประทานอาหารตั้งแต่เวลา 9-10.30 นาฬิกา โดยไม่ได้กำหนดว่าลูกจ้างคนใดจะต้องหยุดรับประทานอาหารในเวลาใด เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2531โจทก์ได้กำหนดเวลารับประทานอาหารแก่ลูกจ้างเป็นกลุ่ม กลุ่มละ30 นาที และกำหนดให้นางสาวแต๋วรับประทานอาหารเมื่อเวลา 10นาฬิกา เห็นว่าการกำหนดเวลารับประทานอาหารที่แน่นอนต่อลูกจ้างโจทก์ได้กำหนดตามเวลาในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม โจทก์ไม่ได้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเวลาใหม่ แต่ได้กำหนดเวลาสำหรับลูกจ้างแต่ละคนให้แน่นอนเพื่อเป็นระเบียบในการทำงาน โจทก์ในฐานะนายจ้างซึ่งเป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชา ย่อมออกคำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติตามได้ ถือว่าเป็นอำนาจในการบริหาร หาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะต้องมีการแจ้งข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ไม่ คำสั่งของโจทก์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสิบสี่ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสี่มีว่า การเลิกจ้างของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 123 หรือไม่ ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาได้ความว่า นางสาวแต๋วได้ทราบคำสั่งกำหนดเวลารับประทานอาหารของโจทก์ก่อนแล้วว่าให้ไปรับประทานอาหารเมื่อเวลา 10.00 นาฬิกานางสาวแต๋วจงใจฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ โดยออกไปรับประทานอาหารเมื่อเวลา 9.30 นาฬิกา นางสาวแต๋วจึงมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ ส่วนที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 เพราะคำสั่งของโจทก์ที่ให้ลูกจ้างไปรับประทานอาหารเป็นเวลาที่แน่นอนไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องและมีผลใช้บังคับอยู่นั้นเห็นว่า กรณีจะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 หรือไม่ ไม่ได้พิจารณาเฉพาะคำสั่งหรือข้อบังคับที่ลูกจ้างฝ่าฝืนเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาว่าในสถานประกอบกิจการนั้นได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องใช้บังคับอยู่หรือไม่ ได้ความว่าจำเลยทั้งสิบสี่วินิจฉัยว่า โจทก์ได้เลิกจ้างนางสาวแต๋วในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ และนางสาวแต๋วเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.6ที่โจทก์อ้างส่งศาลเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับสหภาพแรงงานทรงชัยปั่นทอ ซึ่งสหภาพแรงงานทรงชัยปั่นทอได้ยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2531 ข้อตกลงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2531 เป็นต้นไป ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้มีผลใช้บังคับมีกำหนด 1 ปี ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 12 วรรคหนึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.6 จึงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 6 เมษายน 2532 โจทก์ให้เลิกจ้างนางสาวแต๋วเมื่อวันที่23 พฤศจิกายน 2531 จึงอยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ คำสั่งที่ 8/2532 ของจำเลยเอกสารหมาย จ.2 ยังวินิจฉัยว่านางสาวแต๋วเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทรงชัยปั่นทอเมื่อวันที่21 มีนาคม 2531 และเป็นกรรมการสหภาพแรงงานฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ด้วย จึงฟังได้ว่านางสาวแต๋วเป็นลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในขณะที่ถูกเลิกจ้าง กรณีจึงต้องด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ซึ่งบัญญัติห้ามเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่ลูกจ้างกระทำความผิดตาม (1) ถึง (5) เมื่อฟังได้ว่านางสาวแต๋วฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์มีปัญหาว่า การฝ่าฝืนเป็นความผิดกรณีร้ายแรงที่โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(3) หรือไม่ เห็นว่า การที่นางสาวแต๋วละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ตามปกติไม่ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง แต่การละทิ้งหน้าที่ของนางสาวแต๋วนั้นได้ละทิ้งการคุมเครื่องจักรโดยไม่มีผู้อื่นมาคุมเครื่องแทนได้ความจากการนำสืบของโจทก์ว่าการกระทำของนางสาวแต๋วเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือ ด้วยขาดแล้วด้ายไปพันลูกหนังและเพลา ต้องหยุดเครื่องและแกะเอาด้ายออก ใช้เวลาแก้อยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงโจทก์หาได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายร้ายแรงอย่างไรความเสียหายตามที่โจทก์นำสืบมาคงฟังได้ว่าเป็นความเสียหายปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการทำงาน การกระทำของนางสาวแต๋วจึงไม่ใช่ความผิดกรณีร้ายแรง โจทก์ไม่อาจเลิกจ้างได้โดยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 123(3) คำสั่งเลิกจ้างของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จึงมีอำนาจสั่งให้โจทก์รับนางสาวแต๋วกลับเข้าทำงานและชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 41(4) และบทบัญญัติดังกล่าวหาได้จำกัดว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเพราะมาตรา 41(4) ข้อความตอนท้ายบัญญัติให้อำนาจแก่คณะกรรมการสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควรคำสั่งที่ 8/2532 ของจำเลยทั้งสิบสี่จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ประเด็นนี้ของจำเลยทั้งสิบสี่ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง