คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2515

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ปลัดจังหวัดสั่งอนุมัติให้ผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดยืมเงินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไปใช้ในงานก่อสร้างของแผนกโยธาจังหวัดโดยผิดระเบียบวิธีการงบประมาณและการคลังส่วนจังหวัด เป็นเหตุให้ผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดยักยอกเอาเงินไปใช้ส่วนตัวถือได้ว่าปลัดจังหวัดและผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดร่วมกันกระทำละเมิดต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ผู้เสียหายรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแน่นอนแล้วการที่ผู้เสียหายมีหนังสือสอบถามไปว่าจะยอมชดใช้เงินหรือไม่ถ้ายอมใช้ก็ไม่ต้องตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และอาจมีผู้อื่นต้องร่วมรับผิดอีกก็ได้นั้นไม่เป็นข้อที่จะยกขึ้นมาขยายอายุความสิทธิเรียกร้องได้ ความที่ยังไม่รู้ตัวผู้ร่วมกระทำผิดด้วยหาอาจนำมาอ้างว่าไม่รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างจำเลยที่ 1 เป็นปลัดจังหวัดพิจิตร จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทางหลวงจังหวัดพิจิตรตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย และสั่งหรืออนุญาตให้จ่ายเงินแผนกมหาดไทยแทนผู้ว่าราชการจังหวัดในเมื่อรักษาราชการแทน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดพิจิตรทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของแผนกมหาดไทย ยืมเงินของโจทก์ไปทดรองจ่ายเกี่ยวกับกิจการทางหลวงจังหวัดพิจิตร แผนกโยธาเทศบาลจังหวัดพิจิตร รวม 5 ครั้ง เป็นจำนวนรวม 48,825 บาท 50 สตางค์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ยืมเพราะไม่มีระเบียบและกฎหมายให้ยืมได้ และตามระเบียบของโจทก์จะให้ยืมได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นและมีโครงการอยู่แล้ว และการให้ยืมเป็นการผิดระเบียบวิธีการงบประมาณและการคลัง เป็นการก่อหนี้โดยไม่มีงบประมาณ ไม่มีโครงการ และจำเลยที่ 1 ให้ยืมไปโดยมิได้ตรวจสอบหลักฐานผลงานและมิได้เร่งรัดสะสางใบยืม ไม่เรียกใบสำคัญคู่จ่ายจากจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ยักยอกเอาเงินตามใบยืมนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และผิดระเบียบของทางราชการดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวนี้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีหลายประการรวมทั้งให้การด้วยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ระบุว่าจำเลยทำละเมิดอย่างใด และไม่ใช่เป็นการกระทำโดยละเมิด หากจะถือว่าเป็นการละเมิด ฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความ เพราะโจทก์ฟ้องจำเลยเกิน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้ต้องรับผิดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่

จำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียวฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เสียก่อน แล้วจึงวินิจฉัยเรื่องอายุความว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นเรื่องอายุความสำหรับจำเลยที่ 1 อีกข้อหนึ่ง

ศาลชั้นต้นได้พิพากษาใหม่ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการละเมิด ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เงิน 48,825 บาท 50 สตางค์แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียวอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ปรึกษาเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ และหนี้รายนี้เป็นหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ก็ได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงมีผลบังคับแก่จำเลยที่ 2 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

“ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 2 ยืมเงินโจทก์ไปใช้ในงานก่อสร้างของแผนกโยธาจังหวัดพิจิตรโดยที่ไม่ได้ทำโครงการไว้ก่อน และกรมโยธาเทศบาลมิได้จัดสรรงบประมาณประเภทก่อสร้างมาให้เบิกจ่าย เป็นการเบิกจ่ายเงินโดยผิดระเบียบวิธีการงบประมาณและการคลังส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 นำเงินที่ยืมไปจ่ายโดยไม่มีใบสำคัญและยักยอกเอาไปใช้ส่วนตัวเสีย ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำการละเมิดต่อโจทก์ ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินที่ยืมไปแก่โจทก์ โดยโจทก์ผู้เสียหายจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มิฉะนั้นคดีของโจทก์ก็ขาดอายุความ

ปัญหาในเบื้องต้นจึงมีว่า โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่เมื่อใด ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายคำรณ สังขกร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น ได้มีหนังสือลับด่วนมากที่ 10416/2504 ลงวันที่ 12 กันยายน 2504 ตามเอกสาร ล.1 ถึงจำเลยที่ 1 ความว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ 6 พิษณุโลก ตรวจสอบบัญชีการเงินแผนกมหาดไทยจังหวัดพิจิตร พบว่า นายประสม วราศิลป์ (จำเลยที่ 2) ผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดพิจิตรได้ยืมเงินราชการไปรวม 5 ครั้ง เป็นใบยืมค้างชำระทั้งสิ้น 48,825 บาท 50 สตางค์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้ยืมหรือเบิกจ่ายได้ นายประสม วราศิลป์ ยังไม่ได้ส่งใช้คืน และไม่มีทางจะให้นายประสมชดใช้เงินรายนี้ได้ เพราะไม่มีทรัพย์สมบัติอย่างใดที่จะจำหน่ายให้ได้เงินมาใช้ ให้จำเลยที่ 1 พิจารณาว่าจะยินยอมร่วมรับผิดชอบส่งใช้เงินดังกล่าวได้หรือไม่ หนังสือหมาย ล.1 ดังกล่าวนี้มีข้อความชัดแจ้งว่าได้มีการละเมิดเกิดขึ้นแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ได้ยืมเงินราชการไปใช้โดยมีใบยืมค้างจ่ายอยู่เป็นจำนวนเงินเท่าใด หนังสือฉบับนั้นยังระบุด้วยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุญาตให้ยืมหรือเบิกจ่ายโดยไม่มีงบประมาณหรือโครงการ ไม่ชอบด้วยระเบียบปฏิบัติ ให้จำเลยที่ 1 ร่วมชดใช้กับจำเลยที่ 2 ไม่มีทางจะแปลความเป็นอย่างอื่นได้ นายคำรณ สังขกร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นผู้แทนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแน่นอนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2504นั้น โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2506 เกินกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว

ข้อที่โจทก์อ้างว่า ตามเอกสาร ล.1 เป็นเรื่องนายคำรณ สังขกรผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรมีหนังสือสอบถามไปยังจำเลยที่ 1 ว่าจะยอมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น ถ้ายอมใช้ก็ไม่ต้องตั้งกรรมการสอบสวนที่ต้องตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และอาจมีผู้อื่นต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 อีกก็ได้นั้น เป็นข้อที่ไม่อาจยกขึ้นมาขยายอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ในเมื่อโจทก์ได้รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว ส่วนจะมีผู้ใดร่วมกระทำละเมิดด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งความที่ยังไม่รู้ผู้ร่วมกระทำผิดด้วยหานำมาอ้างว่าไม่รู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share