แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายทั้งสองและจ่าสิบตำรวจ ส. เบิกความยืนยันว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เปิดสัญญากระบองไฟส่งสัญญาณให้จำเลยหยุดรถแต่จำเลยซึ่งชะลอความเร็วรถลงกลับเร่งความเร็วพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองก็ตาม แต่ขณะที่จำเลยเร่งความเร็วรถพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองนั้น รถจำเลยอยู่ห่างผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 5 เมตร ซึ่งในระยะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นระยะกระชั้นชิดและการเร่งความเร็วรถเพื่อพุ่งเข้าชนก็เป็นไปโดยกะทันหัน จึงไม่เชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองจะทันระมัดระวังและกระโดดหลบได้ทัน โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 1 ยิ่งไม่น่าจะกระโดดหลบหนีได้เลย เพราะขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 ยืนอยู่ติดกับรถยนต์กระบะที่เจ้าพนักงานตำรวจจอดอยู่ ไม่มีพื้นที่เหลือพอที่จะกระโดดหลบหนีไปได้และรถยนต์ของจำเลยย่อมจะพุ่งเข้าชนหรือเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะด้วย ไม่น่าจะหักหลบรถยนต์กระบะไปได้ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ในรถ ตามพฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยเพียงแต่มีเจตนาที่จะหลบหนีให้พ้นการตรวจค้นและจับกุมของผู้เสียหายทั้งสองกับพวกเท่านั้นหาได้มีเจตนาฆ่าไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80,91, 289 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ, 74 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 97 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 22, 29 และริบของกลางกับเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดต่อพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม แต่ให้การปฏิเสธในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2), ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 38 วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง, 74 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 23 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนจำคุก 1 ปี ฐานมีวัตถุระเบิด จำคุก 3 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญายกเว้นข้อหามีเมทแอมเฟตามีนเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 สำหรับข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตจึงไม่อาจเพิ่มโทษได้ ข้อหามีและพาอาวุธปืนกับมีวัตถุระเบิดเพิ่มโทษหนึ่งในสามแล้วเป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน ข้อหามีเมทแอมเฟตามีนเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 เป็นจำคุก 33 ปี 4 เดือน ส่วนข้อหาอื่นจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 3 ปี 13 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 36 ปี 17 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ขับรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน ก – 1299 สระบุรี ตามถนนสายคันคลองยายนาค – บ้านกระทุ่มราย จากถนนคันคลองลพบุรี – บ้านแพรก มุ่งหน้าทางด้านดอนโพธิ์ เมื่อถึงที่เกิดเหตุสิบตำรวจโทสายันต์ วิรัตน์เกษม ผู้เสียหายที่ 1 กับสิบตำรวจโทพิเชษฐ์ ศรีจริยา ผู้เสียหายที่ 2 ได้ออกไปยืนขวางทางเพื่อให้จำเลยหยุดรถและตรวจค้น แต่จำเลยขับรถผ่านผู้เสียหายทั้งสองกับพวกแล้วหลบหนีการจับกุมต่อมาจ่าสิบตำรวจสำเนา ปีเจริญ กับผู้เสียหายทั้งสองและพวกติดตามจับกุมจำเลยได้ที่บ้านพักและตรวจค้นรถยนต์ของจำเลย พบอาวุธปืนพกชนิดประกอบขึ้นเอง ไม่มีเครื่องหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืนขนาด .22 มิลลิเมตร 1 นัด วัตถุระเบิดแสวงเครื่องชนิดจัดทำขึ้นเอง 2 ลูก เมทแอนเฟตามีน 2 เม็ด และเครื่องวิทยุคมนาคม 1 เครื่อง จึงยึดเป็นของกลาง คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ด้วยการขับรถพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองหรือไม่
ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จ่าสิบตำรวจสำเนากับพวกสืบทราบว่า จำเลยลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงวางแผนดักซุ่มจับกุมจำเลยที่บริเวณเชิงสะพานข้ามคลองยายนาคบนถนนสายคันคลองยายนาค – บ้านกระทุ่มราย ซึ่งเป็นทางเข้าบ้านจำเลย ครั้นถึงวันเวลาเกิดเหตุขณะจำเลยขับรถข้ามสะพานข้ามคลองยายนาคมาผู้เสียหายทั้งสองออกไปยืนกลางถนนและผู้เสียหายที่ 2 เปิดกระบองไฟให้สัญญาณไฟกะพริบสีแดงเพื่อให้จำเลยหยุดรถ จำเลยชะลอความเร็วลง แต่เมื่อรถแล่นมาใกล้ผู้เสียหายทั้งสองจำเลยได้เร่งความเร็วรถพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสอง ผู้เสียหายที่ 2 กระโดดหลบไปข้างทางได้ทัน ส่วนผู้เสียหายที่ 1 หลบไม่ทัน ถูกรถเฉี่ยวชนล้มลงได้รับบาดเจ็บที่เข่าซ้ายและหลังมือซ้าย หลังจากนั้นจำเลยขับรถหนีไปที่บ้าน จ่าสิบตำรวจสำเนากับพวกติดตามไปจับกุมจำเลยได้พร้อมของกลาง
จำเลยนำสืบว่า ขณะที่จำเลยขับรถข้ามสะพานข้ามคลองยายนาคจำเลยเห็นรถยนต์กระบะจอดอยู่เชิงสะพาน จึงชะลอรถเนื่องจากถนนเชิงสะพานเป็นหลุมและจะขับรถหลีกรถยนต์กระบะ จากนั้นมีคนหลายคนกระโดดลงจากท้ายรถยนต์กระบะมาทุบหลังคารถจำเลย จำเลยเข้าใจว่าเป็นคู่อริจึงขับรถผ่านไป แต่ไม่ได้เร่งความเร็ว เมื่อขับรถถึงบ้านแล้วเจ้าพนักงานได้ติดตามมาจับกุมและยึดของกลางได้ภายในรถยนต์
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายทั้งสองและจ่าสิบตำรวจสำเนาเบิกความยืนยันว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เปิดสัญญาณกระบองไฟส่งสัญญาณให้จำเลยหยุดรถแต่จำเลยซึ่งชะลอความเร็วรถลงกลับเร่งความเร็วพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองก็ตามแต่ขณะที่จำเลยเร่งความเร็วรถพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองนั้น ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่ารถจำเลยอยู่ห่างผู้เสียหายที่ 1 ประมาณ 4 เมตร และผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่ารถจำเลยอยู่ห่างผู้เสียหายที่ 2 ประมาณ 5 เมตร ซึ่งในระยะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นระยะกระชั้นชิดและการเร่งความเร็วรถเพื่อพุ่งเข้าชนก็เป็นไปโดยกะทันหัน จึงไม่เชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองจะทันระมัดระวังและกระโดดหลบได้ทัน โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 1 ยิ่งไม่น่าจะกระโดดหลบหนีได้เลย เพราะขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 ยืนอยู่ติดกับรถยนต์กระบะที่เจ้าพนักงานตำรวจจอดอยู่ ไม่มีพื้นที่เหลือพอที่จะกระโดดหลบหนีไปได้และรถยนต์ของจำเลยย่อมจะพุ่งเข้าชนหรือเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะด้วย ไม่น่าจะหักหลบรถยนต์กระบะไปได้ ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าขณะเกิดเหตุจำเลยมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ในรถตามพฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยเพียงแต่มีเจตนาที่จะหลบหนีให้พ้นการตรวจค้นและจับกุมของผู้เสียหายทั้งสองกับพวกเท่านั้น หาได้มีเจตนาฆ่าไม่ สำหรับบาดแผลที่เข่าซ้ายและหลังมือซ้ายของผู้เสียหายที่ 1 ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.12 ก็ไม่ปรากฏขนาดและไม่ระบุลักษณะให้เห็นว่าเป็นบาดแผลที่เกิดจากถูกรถเฉี่ยวชนหรือไม่ หากจำเลยขับรถเฉี่ยวชนผู้เสียหายที่ 1 จริงดังที่พยานโจทก์เบิกความแล้ว บาดแผลก็น่าจะอยู่ทางด้านขวาของร่างกายและเป็นบาดแผลขนาดใหญ่เพราะขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 ยืนหันหน้าเข้าหารถยนต์จำเลยและอ้างว่าจำเลยขับรถเร็วมาก บาดแผลของผู้เสียหายที่ 1 อาจเกิดจากเสียหลักล้มเองก็ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเจตนาหลบหนีผู้เสียหายทั้งสองกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุม การกระทำของจำเลยยังไม่ถึงขั้นพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยเล็งเห็นผลการกระทำของตนแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2), 80 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1