แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การกระทำที่จะทำให้ผู้กระทำผิดได้รับการยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสุดท้าย จะต้องเป็นการกระทำชำเราเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและต่อมาภายหลังศาลอนุญาตให้ชายหญิงนั้นสมรสกัน คดีนี้ แม้ว่าภายหลังการกระทำผิดจำเลยกับผู้เสียหายจะจดทะเบียนสมรสกัน แต่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและศาลก็มิได้อนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายสมรสกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นโทษ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2540 เวลากลางวัน จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กหญิง ส. ผู้เสียหาย อายุ 13 ปีเศษ ไปเสียจากนาง ฉ. ผู้เป็นมารดาและนาง ล. หรือนาง ม. ซึ่งเป็นผู้ปกครอง ผู้ดูแลผู้เสียหายเพื่อการอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2540 เวลากลางวัน จำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากมารดาและผู้ปกครองผู้ดูแลผู้เสียหาย โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหาย 1 ครั้ง โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคท้าย เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 8 ปีฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง จำคุก10 ปี รวมจำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 9 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าการที่จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายอายุ 13 ปีเศษ ไปเสียจากมารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จากนั้นจึงได้กระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยกระทำต่อเนื่องในวันเดียวกัน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกาหรือถือว่าเป็นการกระทำต่างกรรมกันดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะเป็นการกระทำต่อเนื่องในวันเดียวกันก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่า จำเลยได้กระทำไปโดยมีเจตนาต่างกัน กล่าวคือจำเลยมีเจตนาพรากผู้เสียหายไปจากมารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารอันเป็นเจตนาที่กระทำต่อมารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เสียหายส่วนที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายก็เป็นเจตนากระทำชำเราผู้เสียหายอันเป็นเจตนาต่างกันกับเจตนาพรากผู้เยาว์ดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่างกรรมกันมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกา
สำหรับข้อที่จำเลยอ้างว่า จำเลยกับผู้เสียหายมีความรักใคร่กันโดยมีความประสงค์ที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ดังนั้น ในวันที่ 22ธันวาคม 2542 จำเลยกับผู้เสียหายได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277วรรคสุดท้าย การกระทำที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษนั้นจะต้องเป็นการกระทำชำเราเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน แต่ในคดีนี้จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและศาลก็มิได้อนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายสมรสกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นโทษ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน