แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542 มาตรา 79 ซึ่งแก้ไขใหม่ มีระวางโทษเป็นคุณกว่าโทษตามกฎหมายเดิม จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคหนึ่ง
การที่จำเลยมีเครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้อง แม้จะเป็นเครื่องชั่งที่มีการแก้ไขลดเครื่องชั่งที่ได้ทำการให้คำรับรองจากทางราชการอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542 มาตรา 76 ซึ่งแก้ไขใหม่ก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 อันเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ขณะจำเลยกระทำความผิดมิได้บัญญัติไว้เป็นความผิด จำเลยจึงคงมีความผิดฐานมีเครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ไว้เพื่อใช้ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจของจำเลย ตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31 เท่านั้น ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑, ๓๒, ๓๘ ป.อ. มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑, ๒๗๐ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑, ๓๒ วรรคสอง, ๓๘ ป.อ. มาตรา ๒๗๐ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้นำเครื่องชั่งของกลางไปซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาแล้วนำไปขายเอากำไรที่จังหวัดสุรินทร์ โดยเครื่องชั่งของกลางมีการแก้ไขดัดแปลงถอดนอตเดิมออกแล้ว ใช้นอตอื่นใส่แทนในลักษณะหลวม สามารถใช้มือเปล่าหมุนออกได้ง่ายเพื่อสะดวกในการแก้ไข ให้คานแกนล้อเลื่อนไปมาได้ ทำให้แกนล้อหมุนคานรับน้ำหนักใต้แท่นซึ่งรับน้ำหนักได้ไม่ตรงต่อความเป็นจริงโดยผู้ซื้อจะได้สินค้าที่มีน้ำหนักมากกว่า ที่เครื่องชั่งแสดง น่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาดัดแปลงแก้ไขเครื่องชั่งของกลางเพื่อเอาเปรียบในทางการค้า อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ มี พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับให้ยกเลิก พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด เดิมทุกฉบับ ตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติความผิดฐานกระทำการใด ๆ เพื่อให้เครื่องชั่งที่มีการให้คำรับรองแล้วแสดงน้ำหนักผิดไปจากที่ได้รับการตรวจสอบความเที่ยงไว้ในมาตรา ๗๕ และมีระวางโทษเป็นคุณกว่าโทษตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง การกระทำความผิดของจำเลยฐานดัดแปลงแก้ไขลดเครื่องชั่ง จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง กระทงหนึ่ง การที่จำเลยใช้เครื่องชั่งโดยรู้ว่าเป็นเครื่องชั่งที่ถูกแก้เปลี่ยน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๒ วรรคสอง นั้น ปรากฏว่าตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๖ มีระวางโทษเป็นคุณกว่าโทษตามมาตรา ๓๒ วรรคสอง จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๐ ด้วยอีกกระทงหนึ่ง
ส่วนการที่จำเลยมีเครื่องชั่ง ซึ่งไม่ถูกต้องดังกล่าวไว้ แม้จะเป็นเครื่องชั่งที่มีการแก้ไขลดเครื่องชั่งที่ได้ทำการให้คำรับรองจากทางราชการก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มิได้บัญญัติความผิดในการมีเครื่องชั่ง ที่ได้มีการแก้ไขลดดังกล่าวให้เป็นความผิดไว้โดยเฉพาะ จำเลยจึงคงมีความผิดฐานมีเครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตาม ความประสงค์ไว้เพื่อใช้ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจของจำเลย ตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑ เท่านั้น ดังนั้น แม้ตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๕๔๒ จะบัญญัติให้การมีเครื่องชั่งที่มีการให้คำรับรองแล้วแสดงน้ำหนักผิดไปจากที่ได้ตรวจสอบความเที่ยงเป็นความผิดตาม มาตรา ๗๖ ก็ตาม แต่เมื่อขณะกระทำความผิดกฎหมาย มิได้บัญญัติให้การมีเครื่องชั่งดังกล่าวเป็นความผิดเกินไปกว่าความผิดตามมาตรา ๓๑ ดังกล่าวนั้น กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา ๗๖ ได้ ตาม ป.อ. มาตรา ๒ วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ความผิดตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑ นั้น ได้มี พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติความผิดฐานมีเครื่องชั่งโดยรู้ว่าเครื่องชั่งนั้นมีความเที่ยงผิดอัตราไว้ในมาตรา ๗๙ และมีระวางโทษเป็นคุณกว่าโทษตามมาตรา ๓๑ จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง การกระทำดังกล่าวยังเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท กับ ป.อ. มาตรา ๒๗๐ ด้วย
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๕, ๗๖, ๗๙ และ ป.อ. มาตรา ๒๗๐ ฐานดัดแปลงแก้ไขลดเครื่องชั่ง จำคุก ๑ ปี ฐานมีเครื่องชั่งโดยรู้ว่าเครื่องชั่งนั้นมีความเที่ยงผิดอัตรา เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทกับ ป.อ. มาตรา ๒๗๐ ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๐ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก ๑ ปี และฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตรา เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท กับ ป.อ. มาตรา ๒๗๐ ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด มาตรา ๗๖ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก ๒ ปี รวมจำคุก ๔ ปี มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก ๓ ปี ริบของกลาง.