แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ซึ่งตามมาตรา 328 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) มาด้วย แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเพียงกรรมเดียวต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีจึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนตามมาตรา 26 ดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) และมาตรา 26
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2546 เวลากลางวันจำเลยใส่ความนายดาบตำรวจ (ที่ถูก จ่าสิบตำรวจ) เสถียร ผู้เสียหาย โดยการโฆษณาด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงกระจายเสียงป่าวประกาศต่อบุคคลที่สาม ผู้มีชื่อและบุคคลทั่วไปว่า “ผู้รู้จากตำรวจเพื่อนผมว่านายเสถียรเคยติดคุกอยู่ที่บางเขน” อันเป็นการใส่ความว่าผู้เสียหายมีความประพฤติไม่ดี เคยกระทำผิดกฎหมายจนถูกจำคุกอันเป็นความเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จ่าสิบตำรวจเสถียร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 จำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมโดยการโฆษณาด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงกระจายเสียงป่าวประกาศ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ซึ่งตามมาตรา 328 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) มาด้วยก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเพียงกรรมเดียวต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัด องค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนตามมาตรา 26 ดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้แล้วพิพากษายกฟ้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) และมาตรา 26 และเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ โดยให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ