แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่1ทำสัญญาเช่าซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปจากโจทก์มีจำเลยที่2เป็นผู้ค้ำประกันและมีจำเลยร่วมเป็นผู้ประกันภัยทรัพย์ที่เช่าซื้อต่อมาในระหว่างเช่าซื้อและภายในอายุสัญญาประกันภัยทรัพย์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปโจทก์ได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามกรมธรรม์แล้วการที่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งๆที่โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์มีสิทธิฟ้องจำเลยร่วมให้รับผิดต่อโจทก์ได้เต็มตามจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งหากจำเลยทั้งสองต้องชำระราคาแทนให้โจทก์จำเลยที่1ในฐานะเป็นผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยฟ้องเรียกค่าทดแทนสำหรับความเสียหายของโทรศัพท์ดังกล่าวจากจำเลยร่วมผู้รับประกันภัยได้ดังนั้นจำเลยที่1จึงขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่จากโจทก์ 1 เครื่อง มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาในระหว่างเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ทำทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหาย ซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงนับแต่โจทก์ทราบถึงการสูญหาย โจทก์ทวงถามค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 42,000 บาท ตามราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 51,065 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 42,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามฟ้องจริง โดยโจทก์จัดให้บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัดเป็นผู้รับประกันภัยทรัพย์ที่เช่าซื้อ กำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยและมีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัย ต่อมาโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป จำเลยที่ 1 ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้แจ้งความร้องทุกข์เป็นหลักฐานเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด รับผิด หลังจากนั้นโจทก์ทวงถามให้จำเบยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือจำนวน 42,000 บาทจำเลยที่ 1 ชำระให้ด้วยเช็ค 2 ฉบับ แต่โจทก์ไม่นำไปเรียกเก็บเงินจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ผิดนัด ทั้งโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยอยู่แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทวิริยะประกันภัยจำกัด ผู้รับประกันภัยทรัพย์ที่เช่าซื้อเข้าเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยร่วมมิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์และจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิฟ้องให้จำเลยร่วมรับผิดก็เป็นคนละมูลหนี้กับคดีนี้ อีกทั้งจำเลยร่วมไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์และจำเลยที่ 1 เพราะการที่ทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 42,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยร่วมฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 2รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันโดยมิได้ฟ้องให้จำเลยร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จะขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ไม่ได้ และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสอง ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปจากโจทก์ 1 เครื่อง ราคา 84,000 บาทมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และมีจำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยทรัพย์ที่เช่าซื้อในวงเงิน 80,000บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2532 ในระหว่างเช่าซื้อและภายในอายุสัญญาประกันภัย ทรัพย์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปโดยมิใช่ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้จำเลยร่วมทราบภายในกำหนด 30 วัน นับจากวันที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ตามเงื่อนไขกรมธรรม์แล้ว อีกทั้งโจทก์ได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามกรมธรรม์แล้ว สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 เห็นว่าแม้ตามฟ้องโจทก์จะเป็นดังที่จำเลยร่วมอ้าง แต่จำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้คดีว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อจากโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้เอาประกันภัย ส่วนโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ และเมื่อในระหว่างเวลาที่อยู่ในความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวถูกคนร้ายลักไป จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย การที่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้ง ๆ ที่โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีสิทธิฟ้องจำเลยร่วมให้รับผิดต่อโจทก์ได้เต็มตามจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ซึ่งหากจำเลยทั้งสองต้องชำระราคาแทนให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้เอาประกันภัยโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เช่าซื้อไว้กับจำเลยร่วมย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยฟ้องเรียกค่าทดแทนสำหรับความเสียหายของโทรศัพท์ดังกล่าวจากจำเลยร่วมผู้รับประกันภัยได้ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)และเมื่อศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอดังกล่าวแล้ว ศาลล่างทั้งสองย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยร่วมต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยให้โจทก์ได้ มิฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยและต้องเสียเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยร่วมแต่เมื่อมีกรณีที่จำเลยร่วมต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยไม่เรียกร้องให้จำเลยร่วมรับผิด ซึ่งอาจจะเป็นการสมรู้กันหรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกโจทก์ฟ้องก็เรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ไม่ได้เช่นนี้ จำเลยร่วมก็มีแต่ได้รับประโยชน์จากการได้เบี้ยประกันภัยโดยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยส่วนจำเลยที่ 1 ก็มีแต่เสียประโยชน์อย่างเดียวเพราะต้องเสียเบี้ยประกันภัยโดยไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย กรณีดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสอง โดยมิได้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองก็เป็นผลดีแก่จำเลยร่วมอยู่แล้ว ฎีกาจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน