แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อความตามรายงานกระบวนพิจารณาฟังได้เพียงว่า มีการเสนอท้ากันในครั้งแรกจะให้ถือเอาผลคดีอาญาของศาลชั้นต้นเป็นข้อแพ้ชนะกันในคดีนี้ โดยทนายจำเลยขอไปศึกษาข้อเท็จจริงจากทนายจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวเสียก่อน ในวันนัดต่อมาคู่ความแถลงร่วมกันต่อศาลใหม่ว่าขอถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในผลแห่งคดีอาญาของศาลชั้นต้นมาเป็นข้อเท็จจริงในคดีนี้ โดยไม่มีข้อตกลงให้ถือเอาผลคดีอาญาดังกล่าวมาเป็นข้อแพ้ชนะกันตามที่เคยเสนอท้ากันไว้ แสดงว่าคู่ความไม่ประสงค์จะถือเอาผลคดีอาญาดังกล่าวมาเป็นข้อแพ้ชนะกัน คงเพียงแต่ให้ถือข้อเท็จจริงคดีนี้ตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาเท่านั้น ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาจึงไม่ใช่คำท้า
เมื่อไม่ปรากฏตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวว่าจำเลยที่ 4เป็นผู้ขุดตักดินที่พิพาทหรือไม่ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์การที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 4 ได้เบิกความเป็นพยานในคดีนี้รับว่าเป็นผู้ขุดตักดินของโจทก์จริงมาฟัง จึงเป็นการฎีกาให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงแตกต่างนอกเหนือไปจากที่คู่ความตกลงกันไว้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีคำสั่งให้ลูกจ้างนำเครื่องจักรและรถขุดตักดินไปขุดตักดินบริเวณแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้ที่ดินและต้นยางพาราของโจทก์ทั้งสองพังทลายและโค่นล้มลงกว่า10 ต้น จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน8,000 บาท และสัญญาว่าจะไม่เข้าไปขุดตักดินในบริเวณนั้นอีก ต่อมาระหว่างวันที่ 5 มกราคม ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2535 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ละเมิดสัญญาโดยร่วมกันมีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างนำเครื่องจักรและรถขุดตักดินบุกรุกเข้าไปขุดตักลักดินในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง เนื้อที่ 1 ไร่เศษ คิดเป็นปริมาตรดินประมาณ 5,600 ลูกบาศก์เมตร ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 496,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 400,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของนางวรรณาและนางสุภาพรด้านทิศใต้ หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสี่ไม่เคยเข้าไปขุดตักดินหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของนางวรรณาและนางสุภาพรอีกขอให้ยกฟ้อง
ก่อนเริ่มสืบพยาน คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่า ให้ถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในผลแห่งคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1797/2535ของศาลชั้นต้น มาเป็นข้อเท็จจริงในคดีนี้ โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายติดใจที่จะนำพยานเข้าสืบเรื่องค่าเสียหายเพียงประเด็นเดียว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมาว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญาที่คู่ความตกลงกัน ให้ถือเป็นข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ได้ร่วมกันทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีว่าข้อความที่คู่ความตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2537 และลงวันที่ 21ธันวาคม 2537 เป็นคำท้าหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่าเป็นคำท้าเมื่อคดีอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้านั้น ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2537 ว่าคู่ความแถลงร่วมกันว่าทนายจำเลยทั้งสี่ประสงค์จะศึกษาข้อเท็จจริงจากทนายจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1797/2535 ของศาลชั้นต้นเสียก่อนแล้วจะแถลงให้ศาลทราบว่าจำเลยทั้งสี่จะตกลงท้ากับโจทก์ทั้งสองให้ถือเอาผลของคดีอาญาเป็นข้อแพ้ชนะกันในคดีนี้หรือไม่ ต่อมาปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2537 ว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่า ขอถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในผลแห่งคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1797/2535 ของศาลชั้นต้นมาเป็นข้อเท็จจริงในคดีนี้ โดยทนายโจทก์ทั้งสองและทนายจำเลยทั้งสี่ยังติดใจนำพยานเข้าสืบในประเด็นเรื่องค่าเสียหายประเด็นเดียวเห็นว่า ข้อความตามรายงานกระบวนพิจารณาทั้งสองฉบับฟังได้เพียงว่า มีการเสนอท้ากันในครั้งแรกจะให้ถือเอาผลคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1797/2535 ของศาลชั้นต้นเป็นข้อแพ้ชนะกันในคดีนี้ โดยทนายจำเลยทั้งสี่ขอไปศึกษาข้อเท็จจริงจากทนายจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวเสียก่อน แล้วในวันนัดต่อมาคู่ความแถลงร่วมกันต่อศาลใหม่ว่าขอถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในผลแห่งคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1797/2535 ของศาลชั้นต้นมาเป็นข้อเท็จจริงในคดีนี้ โดยไม่มีข้อตกลงให้ถือเอาผลคดีอาญาดังกล่าวมาเป็นข้อแพ้ชนะกันตามที่เคยเสนอท้ากันไว้แสดงว่า คู่ความไม่ประสงค์จะถือเอาผลคดีอาญาดังกล่าวมาเป็นข้อแพ้ชนะกันในคดีนี้ คงเพียงแต่ให้ถือข้อเท็จจริงคดีนี้ตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวเท่านั้น ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่ใช่คำท้า และจะถือว่าโจทก์ทั้งสองต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีดังที่จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ฎีกาไม่ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นขอให้ถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในผลแห่งคดีอาญามาเป็นข้อเท็จจริงในคดีนี้ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขุดตักดินที่พิพาทหรือไม่ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ฉะนั้น ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าจำเลยที่ 4 ได้เบิกความเป็นพยานในคดีนี้รับว่าเป็นผู้ขุดตักดินของโจทก์จริง จึงชอบที่จะนำคำรับของจำเลยที่ 4มาฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยนั้น จึงเป็นการฎีกาให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงแตกต่างนอกเหนือไปจากที่คู่ความตกลงกันไว้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายมากกว่าจำนวนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเดิมมีสภาพเป็นสวนยางมีลักษณะเป็นเนินสูง ระดับสูงสุดจากถนนประมาณ 20 เมตร ต้นยางสามารถกรีดให้น้ำยางมาแล้ว 10 กว่าปี นายสุรพล โชติธรรมโม ซึ่งสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายถูกขุดดินไปเป็นเนื้อที่ประมาณ1 งาน คิดเป็นปริมาตรเนื้อดิน 5,088 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นดินอัดแน่นหากนำดินที่มีปริมาตรเท่ากันมาทดแทน จะต้องเพิ่มปริมาตรเนื้อดินอีกร้อยละ 25 คิดเป็นจำนวนเนื้อดินทั้งสิ้น 6,360 ลูกบาศก์เมตร ราคาเนื้อดินในเขตอำเภอทุ่งสงลูกบาศก์เมตรละ 37 บาท เป็นเงิน 235,320 บาททั้งการปรับที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิมจะต้องใช้รถแทรกเตอร์ ซึ่งจะต้องสิ้นค่าใช้จ่ายเป็นเงินอีก 96,000 บาท และนายสุชาติ รักชาติ พนักงานสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอำเภอทุ่งสง พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความประกอบด้วยว่าต้นยางพาราของโจทก์ทั้งสองถูกโค่นล้มประมาณ 100 ต้น คิดเป็นค่าเสียหาย 31,548 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ไม่สืบหักล้างในข้อนี้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเป็นค่าเนื้อดินและค่าแรงในการปรับถมดินให้อยู่ในสภาพเดิมเป็นเงิน 100,000 บาท และค่าเสียหายของต้นยางพาราที่โค่นล้มเป็นเงิน 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 110,000 บาท นั้น ยังต่ำไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองใหม่เป็นเงินจำนวน200,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง ฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาด้วยว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนน้อยไปนั้น เมื่อศาลฎีกากำหนดให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองมากขึ้นเกือบเท่าตัวเช่นนี้ จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนทั้งหมดในทั้งสามศาลเสียด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 ธันวาคม 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 4ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ