คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลักที่จะใช้พิจารณาว่าความผิดทั้งสองคดีเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม คือ การกระทำของจำเลยในทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันหรือไม่ ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี ๆ ไป
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมในคดีนี้เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจเพื่อจะได้ฉ้อโกงสินค้าเป็นจำนวนมากด้วยการอาศัยวิธีการออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสดโดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงอุบายของจำเลยกับพวกเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบสินค้าผ้าในคดีนี้ให้จำเลยกับพวก การออกเช็คชำระหนี้คราวแรกจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้การที่จำเลยออกเช็คจำนวน 11 ฉบับ ให้แก่โจทก์ร่วมจะกระทำขึ้นภายหลังจากจำเลยกับพวกได้รับสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมและออกเช็คคราวแรกให้โจทก์ร่วมแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการออกเช็คแทนเช็คฉบับเดิมที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและแทนที่การออกเช็คที่เป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงตลิ่งชันในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงตลิ่งชัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาอ้างว่า ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้จำเลยได้อ้างคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลแขวงตลิ่งชัน ทำให้ศาลแขวงตลิ่งชันพิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เพราะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาบังคับแก่กรณีนี้นั้น เห็นว่า ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมยังคลาดเคลื่อนอยู่เพราะบทบัญญัติในมาตรา 39 (4) แห่ง ป.วิ.อ. เป็นเรื่องฟ้องซ้ำ ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 173 วรรคสอง (1) แห่ง ป.วิ.พ. เป็นเรื่องฟ้องซ้อน เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อ ป.วิ.อ. ไม่ได้บัญญัติเรื่องฟ้องซ้อนไว้โดยเฉพาะ จึงนำบทบัญญัติเรื่องฟ้องซ้อนใน ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2553)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91, 83 ให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,450,531 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัดเบ๊กิ้มฮง ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะคดีส่วนอาญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 39 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 1,450,531 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยร่วมกับนายจิรายุพันธุ์หรือใหญ่เปิดร้านค้าชื่อ ถุงเงินดีไซน์ แล้วสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมหลายครั้ง ครั้งแรก ๆ จ่ายค่าสินค้าเป็นเงินสด ต่อมาจ่ายเป็นเช็คซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ ครั้งหลังสุดจ่ายเป็นเช็คหลายฉบับ โดยหลอกลวงว่าสามารถเรียกเก็บเงินได้ แต่ความจริงไม่อาจเรียกเก็บเงินได้ เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ต่อมาจำเลยได้ออกเช็คจำนวน 11 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,003,089 บาท แทนเช็คที่ถูกธนาคารปฏิเสธการใช้เงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีก
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงตลิ่งชันในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า คดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงตลิ่งชันในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เป็นเช็คจำนวน 11 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,003,089 บาท ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง จำนวน 13 ครั้ง รวมมูลค่า 1,450,531 บาท นอกจากนี้ วันที่ออกเช็คแต่ละฉบับก็ไม่ตรงกับวันที่ฉ้อโกงแต่ละครั้ง จึงเห็นได้ว่าเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ มิใช่เรื่องเดียวกัน และที่โจทก์ร่วมฎีกาอ้างว่า คดีนี้จำเลยมีเจตนาทุจริต ฉ้อโกงสินค้าผ้าของโจทก์ร่วม ความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่จำเลยได้รับสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วม ส่วนคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงตลิ่งชันในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ความผิดเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จึงเป็นความผิดหลายกรรมนั้น ข้ออ้างของโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวนั้นไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าความผิดคดีนี้กับความผิดในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงตลิ่งชันในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม หลักที่จะใช้พิจารณาว่าความผิดทั้งสองคดีเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมก็คือ การกระทำของจำเลยในทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันหรือไม่ ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี ๆ ไป ได้ความจากนายพชร พยานโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุตรของหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ร่วมและเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของโจทก์ร่วมว่า หลังจากนายจิรายุซึ่งเป็นพนักงานขายของโจทก์ร่วมได้แนะนำลูกค้าคือร้านถุงเงินดีไซน์แก่โจทก์ร่วมแล้ว โจทก์ร่วมขายสินค้าประเภทผ้าม้วนให้แก่ร้านถุงเงินดีไซน์โดยในช่วงแรกนั้นจะรับชำระค่าสินค้าเป็นเงินสด หลังจากนั้นนายจิรายุพันธุ์แจ้งว่า ร้านถุงเงินดีไซน์ต้องการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นโดยจะขอชำระค่าสินค้าเป็นระยะเวลานานขึ้นด้วยเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสุขาภิบาล 1 (บางบอน) โดยในการชำระค่าสินค้าด้วยเช็คในช่วงแรก เช็คสามารถเรียกเก็บเงินได้ ต่อมานายจิรายุพันธุ์แจ้งว่าร้านถุงเงินดีไซน์ต้องการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น และจะขอชำระค่าสินค้านานขึ้นกว่าเดิม นายพชรยินยอมให้นายจิรายุพันธุ์ขายสินค้าโดยให้ระยะเวลาในการชำระค่าสินค้าของร้านถุงเงินดีไซน์เพิ่มขึ้น ร้านถุงเงินดีไซน์สั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมในระหว่างเกิดเหตุคดีนี้รวม 13 ครั้ง และได้ชำระค่าสินค้าเป็นเช็คจำนวน 11 ฉบับ แต่เช็คดังกล่าวไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ต่อมานายพชรไปตรวจสอบร้านถุงเงินดีไซน์พบว่าร้านดังกล่าวเป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ไม่ได้มีการตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อผลิตสินค้า และได้ความจากเจ้าของทาวน์เฮาส์ดังกล่าวว่า นายจิรายุพันธุ์เป็นผู้มาเช่าทาวน์เฮาส์ดังกล่าวตั้งแต่ปลายปี 2542 ถึงต้นปี 2543 หลังจากนั้นนายจิรายุพันธุ์ได้ออกจากทาวน์เฮาส์ไป จะเห็นได้ว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมในคดีนี้ เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนการที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจเพื่อจะได้ฉ้อโกงสินค้าเป็นจำนวนมากด้วยการอาศัยวิธีการออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสดโดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงอุบายของจำเลยกับพวกเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบสินค้าผ้าในคดีนี้ให้จำเลยกับพวก การออกเช็คชำระหนี้คราวแรกจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้การที่จำเลยออกเช็คจำนวน 11 ฉบับ ให้แก่โจทก์ร่วมจะกระทำขึ้นภายหลังจากจำเลยกับพวกได้รับสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมและออกเช็คคราวแรกให้โจทก์ร่วมแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการออกเช็คแทนเช็คฉบับเดิมที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและแทนที่การออกเช็คที่เป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงตลิ่งชันในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงตลิ่งชัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาอ้างว่า ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้ จำเลยได้อ้างคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลแขวงตลิ่งชัน ทำให้ศาลแขวงตลิ่งชันพิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เพราะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มาบังคับแก่กรณีนี้ได้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1037/2501 และ 1438/2527 นั้น เห็นว่า ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมยังคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะบทบัญญัติในมาตรา 39 (4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นเรื่องฟ้องซ้ำ ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 173 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นเรื่องฟ้องซ้อน เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติเรื่องฟ้องซ้อนไว้โดยเฉพาะจึงนำบทบัญญัติเรื่องฟ้องซ้อนในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมในปัญหาข้อเท็จจริงต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share