คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน และโจทก์ได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว ทำให้คดีอาญาที่โจทก์ถูกกล่าวหาเป็นอันเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 (2) แต่เมื่อโจทก์กล่าวหาต่อจำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนว่าจ่าสิบตำรวจ ป. ทำร้ายร่างกายโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายโดยมีเจตนาจะให้จ่าสิบตำรวจ ป. ได้รับโทษ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามมาตรา 2 (7) และเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ถูกกล่าวหาดังกล่าว จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์ของโจทก์ไว้เพื่อดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไป การที่จำเลยไม่รับคำร้องทุกข์ของโจทก์ในข้อหาทำร้ายร่างกาย อ้างเพียงว่าคดีเลิกกันแล้วโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จึงเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 เวลากลางคืน โจทก์ทั้งสองถูกจ่าสิบตำรวจประเสริฐ รัตนมณี ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและพาโจทก์ทั้งสองมาสถานีตำรวจภูธรอำเภอนาทวี โดยจำเลยเป็นพนักงานสอบสวนทำหน้าที่ร้อยเวร มีหน้าที่รับแจ้งความคดีอาญา โจทก์ทั้งสองเล่าเรื่องที่ถูกทำร้ายให้จำเลยทราบและขอแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญาในเรื่องที่ถูกจ่าสิบตำรวจประเสริฐทำร้าย จำเลยไม่ยอมรับแจ้งความกลับสั่งให้เปรียบเทียบปรับโจทก์ทั้งสองในข้อหาเมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน ต่อมาในตอนเช้าโจทก์ทั้งสองกับนางหนูน้อย ขาวหนูนา นางสายจิต ลาภสกุลอนันต์หรือแซ่จอง ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสองมาพบจำเลยที่สถานีตำรวจเพื่อขอแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญาแก่จ่าสิบตำรวจประเสริฐอีกครั้ง แต่จำเลยไม่รับแจ้งความ การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162, 184, 200, 310, 90, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162, 200 จึงให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ประกอบพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดไม่ร้ายแรง เห็นสมควรให้โอกาสจำเลย โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา โจทก์ทั้งสองถูกจ่าสิบตำรวจประเสริฐ รัตนมณี กับพวกจับกุมในข้อหาเมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน นำตัวมามอบให้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนโจทก์ทั้งสองให้การรับสารภาพ จำเลยได้เปรียบเทียบปรับโจทก์ทั้งสองในข้อหาดังกล่าว ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ทั้งสองกับญาติได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อจำเลยให้ดำเนินคดีแก่จ่าสิบตำรวจประเสริฐ รัตนมณี ในข้อหาทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยแจ้งว่าเรื่องดังกล่าวได้เปรียบเทียบปรับถือว่าคดีเลิกกันไปแล้ว จำเลยไม่รับแจ้งความร้องทุกข์ โจทก์ทั้งสองต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนคนอื่นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2538 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า การที่จำเลยไม่รับแจ้งความร้องทุกข์โจทก์ทั้งสองในข้อหาทำร้ายร่างกาย เป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำรับสารภาพของโจทก์ทั้งสองว่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ทั้งสองเมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน และโจทก์ทั้งสองได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว ทำให้คดีอาญาที่โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 (2) แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองกล่าวหาต่อจำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนว่าจ่าสิบตำรวจประเสริฐ รัตนมณี ทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจ่าสิบตำรวจประเสริฐได้กระทำความผิดข้อหาทำร้ายร่างกาย ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายโดยมีเจตนาจะให้จ่าสิบตำรวจประเสริฐได้รับโทษเช่นนี้ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) และเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาว่าเมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในสาธารณะหรือสาธารณสถาน จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองไว้เพื่อดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไป การที่จำเลยไม่รับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองในข้อหาทำร้ายร่างกายอ้างเพียงว่าคดีเลิกกันแล้วโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จึงเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายที่จำเลยฎีกาว่า คดีที่จ่าสิบตำรวจประเสริฐถูกฟ้องว่าทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสอง ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง จำเลยจึงไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องทุกข์ในข้อหาทำร้ายร่างกายนั้น เห็นว่า การพิจารณาคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นหลังจากจำเลยไม่ยอมรับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองแล้ว จนโจทก์ทั้งสองต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนคนอื่นในเวลาต่อมา ผลของคดีดังกล่าวไม่มีผลลบล้างการกระทำของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้ดุลพินิจโดยชอบดังที่จำเลยฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันเวลากระทำผิดตามฟ้องไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้ความก็เป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียด ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ จึงฟังข้อเท็จจริงตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share