แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “ล้มละลาย”‘ ตามมาตรา 1154 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึงศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วดังนั้น การที่กรรมการบริษัทจำกัดถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลล้มละลายตามความหมายของมาตราดังกล่าว พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 62 บัญญัติว่าการล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จึงเป็นเรื่องผลเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้และการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเฉพาะ หามีผลให้สถานะบุคคลของลูกหนี้เปลี่ยนเป็นบุคคลล้มละลายตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไปด้วยไม่ (วรรคแรกวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2527)
ย่อยาว
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน โดยบริษัทลูกหนี้ได้ทำสัญญาจำนองเครื่องจักร 75 เครื่องไว้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า ขณะที่นายสากลกรรมการบริษัทลูกหนี้มอบอำนาจให้นายกนกไปจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรแก่ธนาคารเจ้าหนี้นั้น นายสากลถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงขาดจากตำแหน่งกรรมการบริษัทลูกหนี้แล้ว การจำนองดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ธนาคารเจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้จึงควรให้ได้รับชำระหนี้ในลำดับหนี้อื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 130(8)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ธนาคารเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ธนาคารเจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายสากลถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายภายหลังวันที่มอบอำนาจให้นายกนกไปทำนิติกรรมจำนองเครื่องจักรแก่ธนาคารเจ้าหนี้การจำนองจึงชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ธนาคารเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ประกันตามมาตรา 96(3)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าในวันที่ 2 สิงหาคม 2519 นั้น นายสากล วิบูลย์วัฒนะกิจ ขาดจากตำแหน่งกรรมการบริษัทลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1154แล้วหรือไม่ พิจารณาแล้วประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์ มาตรา 1155บัญญัติว่า “ถ้ากรรมการคนใดล้มละลายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถไซร์ท่านว่ากรรมการคนนั้นเป็นอันขาดจากตำแหน่ง” ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การให้กรรมการบริษัทจำกัดขาดจากตำแหน่งตามความในมาตรานี้เนื่องจากสถานะบุคคลของกรรมการเปลี่ยนแปลงไป โดยตกเป็นบุคคลล้มละลายหรือเป็นผู้ไร้ความสามารถ คำว่า “ล้มละลาย” ในที่นี้หมายถึงศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเป็นเพียงคำสั่งชั้นหนึ่งก่อนที่จะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้และดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 ไปก่อน แต่ถ้าหากลูกหนี้ทำการประนอมหนี้เป็นผลสำเร็จก็จะไม่ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายต่อไป ฉะนั้น การที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงถือไม่ได้ว่าลูกหนี้ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ส่วนที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 62 บัญญัติว่าการล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นเป็นเรื่องผลเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้และการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเฉพาะ หามีผลให้สถานะบุคคลของลูกหนี้เปลี่ยนเป็นบุคคลบุคคลล้มละลายตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไปด้วยไม่คดีนี้ขณะนายสากล วิบูลย์วัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัทลูกหนี้มอบอำนาจให้นายกนก ปัทมะลางดุล ไปจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรแก่ธนาคารเจ้าหนี้นายสกลเพียงถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ยังหาได้ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายไม่ นายสากลจึงยังไม่ขาดจากตำแหน่งกรรมการบริษัทลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1154 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการจำนองเครื่องจักรชอบด้วยกฎหมาย และพิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้นให้ธนาคารเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน