คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7628/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134ที่บังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบเจตนารมณ์ก็เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด และเพื่อให้ผู้ต้องหาเข้าใจถึงการกระทำของตนโดยไม่ต้องระบุอ้างถึงตัวบทกฎหมายที่กระทำผิด และในกรณีที่การกระทำนั้นผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันก็ตามพนักงานสอบสวนก็หาจำต้องระบุถึงกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตราหรือทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ แต่ เมื่อได้แจ้งข้อหา อันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้ว ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิด อันเกี่ยวพันกันด้วยอีกพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิด ทุกข้อหาได้ ฉะนั้น การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลย ว่านำหรือพาของที่ยังมิได้เสียภาษีหรือยังมิได้ผ่านศุลกากร เข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่ามีไม้สักแปรรูป ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดอีกฐานหนึ่ง อันมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างออกไปและอยู่ในกฎหมายต่างฉบับกัน ก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครอง โดยมิได้รับอนุญาตได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิด ฐานนี้แล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ฐานมีไม้สักแปรรูป ไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 7, 48,73, 74, 74 จัตวา พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 91 ริบของกลาง จ่ายสินบนและเงินรางวัลแก่ผู้นำจับและผู้จับ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง(1)จำคุก 4 ปี ริบของกลาง ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนข้อเท็จจริงศาลชั้นต้นสั่งไม่รับเพราะต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาต่อจำเลยว่ากระทำผิดฐานนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียภาษีหรือยังมิได้ผ่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานนี้ เห็นว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ที่บัญญัติบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ เจตนารมณ์ก็เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด และเพื่อให้ผู้ต้องหาเข้าใจถึงการกระทำของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นความผิดนั้นโดยไม่ต้องระบุอ้างถึงตัวบทกฎหมายที่ผู้ต้องหากระทำผิดในกรณีที่การกระทำนั้นผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันก็ตามพนักงานสอบสวนก็หาจำต้องระบุถึงกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตราหรือทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไม่แต่ในเมื่อได้แจ้งข้อหาอันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้วก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วยอีก พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ กรณีของจำเลยเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่าจำเลยนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียภาษีหรือยังมิได้ผ่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วแม้ไม่แจ้งข้อหาว่ามีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดอีกฐานหนึ่งอันมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างออกไป และอยู่ในกฎหมายต่างฉบับกันก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานนี้แล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share