คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7613-7626/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน ซึ่งนายจ้างยังไม่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง จึงเป็นค่าจ้าง ซึ่ง ป.พ.พ. บัญญัติอายุความที่ลูกจ้างเรียกเอาค่าจ้างมีกำหนด 2 ปี ไว้โดยเฉพาะแล้วในมาตรา 193/34 (9)

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 ถึง ที่ 14 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสิบสี่สำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างค้างจ่าย เงินประกันสังคมที่จำเลยทั้งสองหักไว้แต่ไม่นำส่งสำนักงานประกันสังคมและเงินกองทุนสะสมพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 และจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 14 แก่โจทก์ที่ 14
จำเลยทั้งสองทั้งสิบสี่สำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นายสุจินต์ นายสุรพล และนางสาวฐิตินาถ เป็นกรรมการของบริษัทวิเศษอุดมทรัพย์ จำกัด โดยกรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัทกระทำการแทนบริษัทได้ บริษัทวิเศษอุดมทรัพย์ จำกัด ถูกฟ้องล้มละลาย ศาลจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งและศาลฎีกาพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ทั้งสิบสี่แถลงว่า ประสงค์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าจ้างค้างจ่ายเพียงอย่างเดียว ไม่ติดใจเรียกร้องเงินประกันสังคม เงินกองทุนเงินสะสม ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกต่อไป
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 235,766 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 14,570 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 11,097 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 76,964 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 30,000 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 19,900 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 366,690 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 145,733 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 29,340 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 166,111 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 35,000 บาท โจทก์ที่ 12 จำนวน 29,865 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 112,869 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 564,724 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองทั้งสิบสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยว่าการฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่ายมีอายุความ 2 ปี หรือ 5 ปี เห็นว่า ค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานซึ่งนายจ้างยังไม่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง จึงเป็นค่าจ้าง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติอายุความที่ลูกจ้างเรียกเอาค่าจ้างมีกำหนด 2 ปี ไว้โดยเฉพาะแล้วในมาตรา 193/34 (9) โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ฟ้องวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 ดังนั้น ค่าจ้างค้างจ่ายก่อนวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 จึงขาดอายุความ ส่วนโจทก์ที่ 14 ฟ้องเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2546 ดังนั้น ค่าจ้างค้างจ่ายก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 จึงขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 11,097 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 30,590 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 20,236 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 30,240 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 135,524 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 35,758 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 93,765 บาท และโจทก์ที่ 14 จำนวน 325,184.33 บาท แต่ทั้งนี้โจทก์ดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่ายในจำนวนที่หักเงินประกันสังคมและภาษีเงินได้ตามกฎหมายออกแล้ว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินของโจทก์แต่ละคน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2 ให้ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในค่าจ้างค้างจ่ายของโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 และ ที่ 12 แล้วส่งสำนวนคืนศาลฎีกาโดยเร็วตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง หรือดำเนินการต่อไปตามวรรคสาม.

Share