แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า การโอนหุ้นจะต้องได้จดแจ้งให้ปรากฏหลักฐานการโอนทั้งชื่อ และที่อยู่ของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นเสียก่อนจึงจะนำมาใช้ยันบริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ เมื่อการโอนหุ้นของบริษัทจำเลยระหว่างผู้ร้องกับ ธ. ยังมิได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างเหตุผลใด ๆมาเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้ตนหลุดพ้นความรับผิดได้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยแล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 22(3) ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวในการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตก ได้แก่บริษัทจำเลยหรือซึ่งบริษัทจำเลยมีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องต้องห้ามมิให้ยกการโอนหุ้นขึ้นยันบริษัทจำเลย ผู้ร้องก็ย่อมไม่อาจยกการโอนหุ้นขึ้นยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ปรากฎว่าผู้ร้องยังค้างค่าหุ้นบริษัทจำเลยเป็นเงิน 150,000 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเห็นว่าผู้ร้องเป็นหนี้อยู่จริง จึงแจ้งยืนยันไปยังผู้ร้องให้ชำระหนี้ดังกล่าว
ผู้ร้องคัดค้านว่า ไม่ได้เป็นหนี้เพราะได้โอนหุ้นให้นายธวัชชัย ไปแล้วจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าหุ้นอีก ขอให้ศาลมีคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โต้แย้งว่า ผู้ร้องยังไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างให้แก่บริษัทจำเลย ทั้งไม่มีการจดแจ้งการโอนหุ้นไว้ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย การโอนหุ้นดังกล่าวจึงใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริง..ฟังได้ว่าการโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องกับนายธวัชชัย เพ่งศรี คงทำหลักฐานเป็นหนังสือระหว่างกันเองโดยมิได้นำไปจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและที่อยู่ของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ปัญหาจึงมีว่ากรณีเช่นนี้ผู้ร้องจะอ้างมาใช้ยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้หรือไม่…เห็นว่าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า การโอนหุ้นจะต้องได้จดแจ้งให้ปรากฎหลักฐานการโอนทั้งชื่อและที่อยู่ของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นเสียก่อนจึงจะนำมาใช้ยันบริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า การโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องกับนายธวัชชัย เพ่งศรียังมิได้จดแจ้งการโอนลงในททะเบียนดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างเหตุผลใด ๆ มาเป็นข้อยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นไปจากความรับผิดได้ ทั้งข้อโต้แย้งที่ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิใช่เป็นบุคคลภายนอกแต่เป็นตัวแทนของบริษัทจำเลย กรณีจึงไม่ต้องห้ามในการที่ผู้ร้องจะยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยแล้ว พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 22(2) ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวในการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่บริษัทจำเลยหรือซึ่งบริษัทจำเลยจะได้รับจากผู้อื่น ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องต้องห้ามมิให้ยกการโอนหุ้นขึ้นยันบริษัทจำเลยดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องก็ย่อมไม่อาจยกการโอนหุ้นขึ้นยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เช่นเดียวกันคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแก้ฎีกาเองจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้