แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ความในมาตรา 123 (3) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มิได้บัญญัติว่าคำเตือนเป็นหนังสือมีระยะเวลานานเท่าใดจึงจะนานเกินสมควรที่จะนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้ใน ระหว่างที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่ก็ไม่อาจแปลได้ว่าเมื่อมีการตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว คำเตือนนั้นจะมีผลอยู่ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานอยู่เพราะลูกจ้างย่อมขาดความคุ้มครอง ดังนั้น เมื่อลูกจ้างได้รับคำเตือนเป็นหนังสือแล้วรู้สำนึกแก้ไขการทำงานและประพฤติตนตามระเบียบข้อบังคับแล้ว คำเตือนนั้นก็ควรสิ้นผลไป
นายจ้างเคยตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลาห่างกับการเลิกจ้าง 7 ปีเศษ ถือได้ว่าเป็นระยะเวลาเนิ่นนานเกินสมควรและสิ้นผลแล้ว จะนำคำเตือนนั้นมาเป็นข้อพิจารณาสำหรับการเลิกจ้างดังกล่าวไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ โจทก์เลิกจ้างนางบุญรวม ลูกจ้างโจทก์และจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ไปแล้ว ต่อมานางบุญรวมกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายอีก ๕๐,๐๐๐ บาท คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยได้มีคำสั่งที่ ๑๕/๒๕๓๐ ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่นางบุญรวม ๒๑,๖๐๐ บาท คำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจากโจทก์เลิกจ้างนางบุญรวมเพราะนางบุญรวมหยุดงานมาก ปฏิบัติงานล่าช้า โจทก์เคยเตือนเป็นหนังสือ ๒ ครั้งและตัดเตือนด้วยวาจาอีกหลายครั้ง โจทก์จึงมีสิทธิเลิกจ้างตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๑๕/๒๕๓๐ ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สอบสวนแแล้วเห็นว่าโจทก์เลิกจ้างนางบุญรวมในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลให้บังคับและนางบุณรวมมิได้กระทำผิดมาตรา ๑๒๓ แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่นางบุญรวมเป็นจำนวนพอสมควรและชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนางบุญรวมฝ่าฝืน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ ค่าเสียหายกำหนดชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ตัดเตือนนางบุญรวมเป็นหนังสือรวม ๒ ครั้ง ตามหนังสือตักเตือนลงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๒ ครั้งหนึ่ง และลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๓ อีกครั้งหนึ่ง ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานรวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมายมิได้มีกำหนดว่าหนังสือตัดเตือนจะมีอายุสิ้นสุดเมื่อใด จึงถือว่าหนังสือตักเตือนรวม ๒ ครั้ง ยังไม่สิ้นผลไป แต่ยังมีผลให้ประกอบการพิจารณาถึงความประพฤติการปฏิบัติงานจนถึงการเลิกจ้างนางบุญรวมได้นั้น พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ บัญญัติว่า ” ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลให้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสามชิกสหภาพแรงงานหรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเว้นแต่บุคคลดังกล่าว (๑) ฯลฯ (๓) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนางจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องว่ากล่าวตักเตือน ทั้งนี้ข้อบังคับระเบียบคำสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง หรือ (๔) ฯลฯ ” เห็นว่า ถึงแม้บทบัญญัติมาตรานี้มิได้กำหนดว่า คำตักเตือนเป็นหนังสือมีระยะเวลานานเท่าใดจึงจะหมดอายุหรือระยะเวลานานเท่าใด จึงจะเป็นระยะเวลาที่นานเกินสมควรที่จะนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้ในระหว่างที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับก็ตามแต่ก็ไม่อาจแปลได้ว่าเมื่อนายจ้างตักเตือนเป็นหนังสือแล้วคำเตือนนั้นจะมีผลอยู่ตลอดไปจนไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด หากจะแปลว่าคำตักเตือนเป็นหนังสือตามมาตรา ๑๒๓ (๓) มีผลอยู่ตลอดไปไม่มีเวลาสิ้นสุดตราบเท่าที่ลูกจ้างทำงานอยู่อันเป็นการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารของโจทก์ และลูกจ้างก็มิได้ทักท้วงตามที่โจทก์อุทธรณ์แล้ว ลูกจ้างย่อมขาดความคุ้มครองเพราะเมื่อลูกจ้างได้รับคำเตือนเป็นหนังสือแล้วรู้สึกสำนึกผิด ได้แก้ไข ปรับปรุง การทำงาน ประพฤติตัวถูกต้องตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานแล้ว ความผิดที่ไม่ร้ายแรงก็ควรได้รับการอภัย และคำเตือนก็ควรสิ้นผล เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๓๙/๒๕๒๘ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์เคยตัดเตือนเป็นหนังสือ ๒ ครั้ง ซึ่งเวลาห่างกับการเลิกจ้างครั้งนี้นานถึง ๗ ปีเศษ ถือว่าเป้นระยะเวลาอันเนิ่นนานเกินสมควรและสิ้นผลแล้ว ไม่มีเหตุที่จะนำมาเป็นข้อพิจารณาสำหรับการเลิกจ้างครั้งนี้ จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน