คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7608/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 4, 33 บัญญัติให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกของผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งไปอยู่ที่อื่นเกิน 180 วัน และเจ้าบ้านไม่ทราบว่าผู้นั้นไปอยู่ที่ใด ต่อมานายทะเบียนโดยระบุว่าไม่ทราบที่อยู่ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งเพิ่มชื่อและรายการผู้นั้นในทะเบียนบ้านกลางซึ่งนายทะเบียนบ้านกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่ปรากฏว่าก่อนหน้าที่จำเลยมีชื่อในทะเบียนบ้านกลางจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด พนักงานเดินหมายส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายที่บ้านเลขที่ทะเบียนบ้านกลาง 317 ซึ่งเป็นสำนักงานเขตดุสิต ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงไม่ใช่การปิดคำคู่ความ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย เป็นการส่งที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางนับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาเรื่องการส่งหมายและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยไม่ชอบเป็นกรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ชอบที่จะเพิกถอนเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บงจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 55,552.26 บาท (ที่ถูก 55,522.96 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 33,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัด ศาลแรงงานกลางให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
ศาลแรงงานกลาง พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นตัวแทนของนายจ้างต่างประทศหรือเป็นบริษัทจัดหางานอันจะทำให้สามารถส่งคนไปทำงานต่างประเทศได้ และไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกันโดยจำเลยตกลงจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างและโจทก์ตกลงทำงานให้จำเลยโดยประสงค์จะได้รับค่าจ้างจากจำเลย ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยจึงมิได้เป็นไปโดยมีนิติสัมพันธ์กันในลักษณะที่เป็นคู่สัญญาในเรื่องจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการผิดสัญญาดังกล่าวจากจำเลยได้พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
โจทก์ฟ้องจำเลยโดยระบุที่อยู่จำเลยในคำฟ้องเป็นบ้านเลขที่ทะเบียนบ้านกลาง 317 ทะเบียนบ้านกลางของเขตดุสิต แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยไม่ปรากฏว่าก่อนหน้านั้นจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด และปรากฏตามรายงานการเดินหมายว่าพนักงานเดินหมายและสำเนาคำฟ้องไว้ตามภูมิลำเนาที่ระบุไว้ในหมาย (ที่อยู่จำเลยระบุตามคำฟ้อง)
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 4, 33 บัญญัติให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกของผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งไปอยู่ที่อื่นเกิน 180 วัน และเจ้าบ้านไม่ทราบว่าผู้นั้นไปอยู่ที่ใดต่อนายทะเบียนโดยระบุว่าไม่ทราบที่อยู่ และให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งเพิ่มชื่อและรายการผู้นั้นในทะเบียนบ้านกลางซึ่งนายทะเบียนบ้านกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน ดังนั้นบ้านเลขที่ทะเบียนบ้านกลาง 317 ซึ่งเป็นสำนักงานเขตดุสิตไม่ใช่ถิ่นที่อยู่อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 การที่พนักงานเดินหมายปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตามที่อยู่ที่ระบุในคำฟ้องจึงไม่ใช่การปิดคำคู่ความ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย เป็นการส่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคหนึ่ง ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางนับแต่การส่งหมายและสำเนาคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาเรื่องการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยไม่ชอบเป็นกรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ชอบที่จะเพิกถอนเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดีต่อไป.

Share