แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ช. ฝ่ายหนึ่ง และ ท. บิดาของจำเลยที่ 3 กับพวกอีกฝ่ายหนึ่งพิพาทกันในสิทธิครอบครองที่ดิน ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าที่ดินพิพาทเฉพาะพื้นที่นอกแนวเขตของพื้นที่ที่ ช. ครอบครองปลูกบ้านเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ท. บิดาของจำเลยที่ 3 ส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 2ฟ้องจำเลยทั้งสี่ว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินเฉพาะส่วนโดย ช. ยกให้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาทในคดีก่อน เพียงแต่อ้างจำนวนเนื้อที่มากกว่าเดิมเท่านั้น จึงเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลวินิจฉัยถึงที่สุดแล้วว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ท. บิดาของจำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์ที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมของ ช. และได้เป็นผู้เข้ารับมรดกความแทน จึงเป็นผู้สืบสิทธิมาจาก ช. ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน โจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิรื้อร้องฟ้องเป็นคดีนี้อีกต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นหลานของนางเภา มารดาคือนางทุเรียนบุตรนางเภา โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนางชิตและนายจีน อุ่นเรือน จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นหลานของนางบัวโดยนายลื้อบิดาของจำเลยที่ 1 และนายผ่อนบิดาของจำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางบัว จำเลยที่ 3เป็นหลานของนางบัว โดยนายเทียมบิดาของจำเลยที่ 3 เป็นบุตรของนางผันซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางบัว ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 เมื่อประมาณปี 2498 นางบัว นางเภา และนางชิตร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 11 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ประมาณ 3 งาน 96 ตารางวา โดยนางบัวครอบครองที่ดินตอนเหนือนางเภาครอบครองที่ดินตอนกลางและนางชิตครอบครองที่ดินตอนใต้เมื่อประมาณปี 2500 นางเภาได้ยกที่ดินส่วนของตนให้แก่นางทุเรียนมารดาโจทก์ที่ 1 นางทุเรียนครอบครองทำประโยชน์ปลูกบ้านอาศัยและปลูกพืชผักผลไม้ในปี 2510 นางทุเรียนยกที่ดินเฉพาะส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อาศัยปลูกบ้านอยู่ เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1เนื้อที่ 1 งาน 36 ตารางวา ส่วนนางชิตซึ่งครอบครองที่ดินเนื้อที่ 1 งาน36 ตารางวา นางชิตยกให้แก่โจทก์ที่ 2 เมื่อปี 2515 โจทก์ที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ถึงปัจจุบัน จำเลยทั้งสี่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินด้านทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 36 ตารางวา โจทก์ทั้งสองประสงค์ขอแบ่งที่ดินเฉพาะส่วนของตนได้รังวัดสอบเขตแล้วที่ดินทั้งแปลงเนื้อที่ 1 ไร่ 8 ตารางวาโจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยทั้งสี่แบ่งแยกแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอม จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่แบ่งที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 งาน 36 ตารางวา หากแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินแบ่งแก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในสามส่วน
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า คำฟ้องโจทก์ที่ 2 เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 2รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนางชิต และนายจีน อุ่นเรือน นางบัว นายลื้อ นายผ่อน และนางผันเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายลื้อ จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายผ่อน จำเลยที่ 3 เป็นบุตรของนายเทียม ซึ่งเป็นบุตรของนางผัน จำเลยที่ 4เป็นสามีของบุตรจำเลยที่ 2 ที่ดินตามสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เอกสารหมาย จ.2 มีชื่อนางบัว นางเภา และนางชิตเป็นผู้ครอบครองร่วมกันเมื่อปี 2530 นางชิต อุ่นเรือน ฝ่ายหนึ่งกับจำเลยทั้งสี่และนายเทียม หอมหิรัญบิดาของจำเลยที่ 3 อีกฝ่ายหนึ่ง มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิครอบครองของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ตามสำนวนคดีแพ่งเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเฉพาะพื้นที่นอกแนวเขตของพื้นที่ที่นางชิตครอบครองปลูกบ้าน ตามแผนที่วิวาทเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายเทียมบิดาของจำเลยที่ 3
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่าคำฟ้องส่วนของโจทก์ที่ 2 เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 337/2532 และ 344/2532 ตามสำนวนคดีแพ่งเอกสารหมาย ล.1 และล.2 นางชิต อุ่นเรือน ฝ่ายหนึ่ง และนายเทียม หอมหิรัญ บิดาของจำเลยที่ 3กับพวกอีกฝ่ายหนึ่ง พิพาทกันในสิทธิครอบครองที่ดินซึ่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ที่ดินพิพาทเฉพาะพื้นที่นอกแนวเขตของพื้นที่ที่นางชิตครอบครองปลูกบ้านเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายเทียมบิดาของจำเลยที่ 3 ส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งสี่ว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินเฉพาะส่วนโดยนางชิตยกให้ตามบริเวณพื้นที่กรอบสีแดงในแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาทในคดีก่อน เพียงแต่อ้างจำนวนเนื้อที่มากกว่าเดิมเท่านั้น จึงเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถึงที่สุดแล้วว่า ที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายเทียมบิดาของจำเลยที่ 3 แม้โจทก์ที่ 2 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อนแต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมของนางชิตและได้เป็นผู้เข้ารับมรดกความแทน จึงเป็นผู้สืบสิทธิมาจากนางชิตถือได้ว่าโจทก์ที่ 2เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน โจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิรื้อร้องฟ้องเป็นคดีนี้อีกต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคแรก
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการสุดท้ายว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 และนายเทียมบิดาของจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหาใช่โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาไม่”
พิพากษายืน