คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7602/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำบันทึกข้อตกลงระบุข้อความว่า “จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คที่ฟ้องจำนวน 431,103 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนี้จำนวน 1,565,486 บาท ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ และจำเลยจะผ่อนชำระแก่โจทก์” โดยบันทึกดังกล่าวมิได้ระบุว่าจำเลยกระทำการแทนบริษัท ซ. ย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเป็นส่วนตัวยอมผูกพันตนเข้าเป็นลูกหนี้ของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำนวน 1,565,486 บาท อีกคนหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งคือโจทก์จะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของจำเลยว่าจะชำระหนี้เพียงบางส่วน หนี้ส่วนที่เหลือจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาให้มีผลผูกพันบริษัท ซ. อันจะเป็นเหตุให้การแสดงเจตนาตกเป็นโมฆะตามที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 154 จำเลยจึงต้องผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ตามข้อตกลง จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยหรือบริษัท ซ. คนใดคนหนึ่งได้ การที่โจทก์ไม่เลือกใช้สิทธิบังคับเอาแก่บริษัท ซ. จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
โจทก์ตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต ปรากฏว่าไม่พบทรัพย์สินของจำเลยแต่อย่างใด และจำเลยเสนอขอผ่อนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีที่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 อีก 3 คดี กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยเสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) (8) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษา มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติ จำเลยเป็นกรรมการบริษัทแซมคอมส์ จำกัด ซึ่งค้างชำระหนี้โจทก์จำนวน 1,565,486 บาท จำเลยสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 431,103 บาท เพื่อชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลย จำเลยทำบันทึกข้อตกลงโจทก์ถอนคำร้องทุกข์และศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความ จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 อีก 3 คดี จำเลยเสนอขอผ่อนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นผู้เสียหายทั้ง 3 คดี ปัญหาวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้เป็นหนี้โจทก์โดยตรง แต่เมื่อจำเลยแสดงเจตนาโดยทำบันทึกข้อตกลง ระบุข้อความจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คที่ฟ้องจำนวน 431,103 บาท ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของหนี้จำนวน 1,565,486 บาท ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่และจำเลยจะผ่อนชำระแก่โจทก์ 18 เดือนแรก เดือนละ 6,000 บาท และอีก 12 เดือนหลัง เดือนละ 35,000 บาท ส่วนที่เหลือจากยอดหนี้ทั้งหมดจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน โดยบันทึกมิได้ระบุเลยว่าจำเลยกระทำการแทนบริษัทแซมคอมส์ จำกัด ย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเป็นส่วนตัวยอมผูกพันตนเข้าเป็นลูกหนี้ของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำนวน 1,565,486 บาท อีกคนหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งคือโจทก์จะได้รู้เจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของจำเลยว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เพียง 431,103 บาท ส่วนหนี้ที่เหลือจำเลยมีเจตนาให้มีผลผูกพันบริษัทแซมคอมส์ จำกัด อันจะเป็นเหตุให้การแสดงเจตนาตกเป็นโมฆะตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 จำเลยจึงต้องผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมา เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คและจำเลยไม่ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ตามที่ตกลง ข้อเท็จจริงรับฟังว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจำนวน 1,565,486 บาท จำเลยเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยหรือบริษัทแซมคอมส์ จำกัด คนใดคนหนึ่งได้ การที่โจทก์ไม่เลือกใช้สิทธิบังคับเอาแก่บริษัทแซมคอมส์ จำกัด จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไป จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากทางนำสืบโจทก์ ก่อนฟ้องคดีโจทก์ตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต ปรากฏว่าไม่พบทรัพย์สินของจำเลยแต่อย่างใด และนอกจากจำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 คดีแรกแล้ว จำเลยยังถูกฟ้องในความผิดเดียวกันอีก 3 คดี ต่อมาจำเลยเสนอขอผ่อนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นผู้เสียหายทั้ง 3 คดี กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยเสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) (8) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐาน แต่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์เพียงว่าจำเลยมีความสามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหมด โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนเลยว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดเพียงพอชำระหนี้ทั้งหมด ข้อกล่าวอ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share