คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7600/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องทำให้จำเลยต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทต่อไป คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงมีผลกระทบโดยตรงและอาจเป็นที่เสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำสั่งดังกล่าวได้ มิใช่เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่ฝ่ายเดียว หรือเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิฎีกาโดยไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวย่อมเป็นการล่วงเวลาที่จะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย จึงไม่มีคำฟ้องชั้นอุทธรณ์ที่จะถอนได้ ส่วนจำเลยมีข้อตกลงกับโจทก์อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก โจทก์ไม่มีสิทธิมาขอถอนคำฟ้องเดิมในชั้นอุทธรณ์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของพันตำรวจตรีอร่าม จงสวัสดิ์ ผู้ตาย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วและบ้าน 2 หลัง ออกไปจากที่ดินมือเปล่า เนื้อที่ 29 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา ซึ่งพันตำรวจตรีอร่ามซื้อมาพร้อมกับที่ดินอีกแปลงหนึ่งเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ และเป็นทรัพย์มรดกของพันตำรวจตรีอร่าม
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทเนื้อที่ 29 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา และที่ดินอีกประมาณ 5 ไร่ โดยใช้ชื่อพันตำรวจตรีอร่ามเป็นผู้ซื้อแทนจำเลย จำเลยเป็นผู้ชำระค่าที่ดินที่ซื้อและครอบครองตลอดมา ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของพันตำรวจตรีอร่าม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยออกจากที่ดินและรื้อถอนรั้วรวมทั้งบ้าน 2 หลัง ออกไปจากที่ดินพิพาทเนื้อที่ 29 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา ของพันตำรวจตรีอร่าม กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง โดยทนายจำเลยลงลายมือชื่อไม่คัดค้านการขอถอนฟ้องมาท้ายคำร้อง และจำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ อ้างว่าตกลงกับโจทก์และทายาทของพันตำรวจตรีอร่ามได้แล้วตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกท้ายคำร้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลย 11,000 บาท และให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ส่วนที่โจทก์ขอถอนฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของโจทก์เสียก่อนว่า จำเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้น ย่อมเป็นผลทำให้จำเลยต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทต่อไป คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงมีผลกระทบโดยตรงและอาจเป็นที่เสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำสั่งดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ หาใช่เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ หาใช่เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่ฝ่ายเดียว หรือเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิฎีกาโดยไม่ชอบดังที่โจทก์แก้ฎีกาไม่ สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยอุทธณ์ฝ่ายเดียว โดยที่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย หากโจทก์ประสงค์จะยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ก็ชอบที่จะยื่นต่อศาลชั้นต้นในเวลาใด ๆ ก็ได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาไปแล้วย่อมเป็นการล่วงเวลาที่จะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และคดีนี้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย จึงไม่มีคำฟ้องชั้นอุทธรณ์ที่จะถอนได้ ส่วนจำเลยมีข้อตกลงกับโจทก์อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก โดยโจทก์ไม่มีสิทธิมาขอถอนคำฟ้องเดิมในชั้นอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share