คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ว่าจำเลยจะเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน มีหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน แต่การที่จำเลยแนะนำผู้เสียหายว่าต้องดำเนินการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก่อนและรับติดต่อทนายความเพื่อดำเนินการร้องขอจัดการมรดกนั้นหาใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 148 และมาตรา 157 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157 และนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 จำคุก 5 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1947/2542 ของศาลชั้นต้นนั้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า นายดำ วงค์เครือศร บิดาของนายอภัย วงค์เครือศร สามีผู้เสียหายถึงแก่ความตายผู้เสียหายไปติดต่อกับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินเพื่อจะโอนที่ดินของนายดำมาเป็นของนายอภัย จำเลยรับว่าจะดำเนินการให้โดยผู้เสียหายต้องนำเงิน 3,700 บาท มามอบให้แก่จำเลย ผู้เสียหายตกลง หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน ผู้เสียหายนำเงิน 3,700 บาท ไปมอบให้จำเลย จำเลยบอกให้รอ 60 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยก็ไม่ดำเนินการให้ ผู้เสียหายจึงมอบอำนาจให้นายฐิติกร สอนสุราษฎร์ ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย ฝ่ายจำเลยคงมีตัวจำเลยเบิกความว่า เมื่อผู้เสียหายไปติดต่อกับจำเลยเพื่อโอนที่ดินดังกล่าว จำเลยแจ้งว่าต้องไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ผู้เสียหายไม่รู้จักทนายความจึงขอให้จำเลยแนะนำให้ จำเลยจึงพาผู้เสียหายไปพบกับทนายความเพื่อยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ทนายความเรียกค่าใช้จ่าย 3,700 บาท ผู้เสียหายมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ทนายความ เห็นว่า พยานโจทก์ที่รู้เห็นในการที่ผู้เสียหายไปติดต่อกับจำเลยนั้นคงมีแต่ตัวผู้เสียหายคนเดียวซึ่งผู้เสียหายเบิกความตอบโจทก์ไว้ด้วยว่า ขณะที่ติดต่อกับจำเลยนั้น จำเลยแจ้งว่าจะให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการโอนที่ดินให้แต่ไม่เคยมีทนายความมาติดต่อกับพยานแต่ผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยแจ้งแก่พยานว่าจะต้องเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน แล้วจึงประกาศแจ้งให้ผู้มาร้องคัดค้านภายใน 60 วัน และต้องไปติดต่อขอโอนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร โดยจำเลยจะติดต่อทนายความให้แล้วรับเงินจากพยานจำนวน 3,700 บาท ว่าจะนำไปเป็นค่าจ้างทนายความร้องจัดการมรดก หลังจากนั้นมีทนายความไปติดต่อกับพยานที่บ้านแจ้งว่า หลักฐานเกี่ยวกับบิดามารดาของนายดำไม่ถูกต้องให้แก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งพยานใช้เวลาแก้ไขอยู่ 1 เดือน เห็นว่า คำเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ว่าผู้เสียหายมอบเงินจำนวน 3,700 บาท เพื่อเป็นค่าจ้างทนายความในการดำเนินการขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายดำ แม้ผู้เสียหายจะเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่าจำเลยไม่ได้บอกว่าจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปว่าจ้างทนายความดำเนินการให้แต่อย่างใด แต่คำเบิกความของพยานช่วงนี้ก็ขัดกับคำเบิกความของพยานเองที่ตอบโจทก์ในขณะถามซักว่า ขณะไปติดต่อกับจำเลยนั้นจำเลยแจ้งว่าจะให้ทนายเป็นผู้ดำเนินการโอนที่ดินให้และขณะตอบทนายจำเลยถามค้านพยานก็เบิกความว่ามีทนายความไปพบจำเลยที่บ้านแจ้งว่าหลักฐานเกี่ยวกับบิดามารดาของนายดำไม่ถูกต้องขอให้ไปแก้ไขให้ถูกต้องซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไขประมาณ 1 เดือน จากคำเบิกความของผู้เสียหายเช่นนี้ ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักฟังได้ว่าผู้เสียหายมอบเงินจำนวน 3,700 บาท แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของทนายความที่จะดำเนินการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายดำโดยจำเลยรับเป็นผู้ติดต่อหาทนายความให้ ดังนั้น แม้ว่าจำเลยจะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน แต่การที่จำเลยแนะนำผู้เสียหายว่าต้องดำเนินการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก่อนและรับติดต่อทนายความเพื่อดำเนินการร้องขอจัดการมรดกนั้น หาใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบหรือเป็นการปฏิบัติการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157 ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องฎีกาจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share