คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีล้มละลาย เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ด ขาดแล้ว ย่อมเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าจัดการทรัพย์สินของจำเลยต่อไปตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483จำเลยจะขอทุเลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 ดัง เช่นคดีแพ่งธรรมดาหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันยอมชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ จำเลยที่ 2ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้แล้วสองครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันแต่ไม่ชำระหนี้ ทั้งยังปรากฎว่าจำเลยทั้งสามเป็นลูกหนี้บุคคลอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 14 ให้จำเลยทั้งสามชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร โดยให้หักเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยชำระแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับระหว่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยที่ 3ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว
ศาลฎีกาตรวจวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นคดีล้มละลาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดแล้ว ก็เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าจัดการทรัพย์สินของจำเลยต่อไปตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย จำเลยที่ 3จะมาขอให้ทุเลาการบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 231 ดังเช่นคดีแพ่งธรรมดาหาได้ไม่ ปัญหาเดียวกันนี้ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วตามคำสั่งคำร้องที่ 113/2518 คดีระหว่างธนาคารนครหลวงไทย จำกัด โจทก์นายซิงฮั้ว แซ่ตั้ง จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยที่ 3 นั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share